Finance

เตรียมพร้อม!! โบรกฯสั่งลุยหุ้นมือถือ – ธนาคารพาณิชย์

เปิดศักราชการลงทุนของปี 2562 ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังคงรุนแรงเช่นเดียวกันช่วงปลายปีก่อน ซึ่งดัชนีไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าระดับ 1,600 จุด เพราะมีปัจจัยเชิงลบกดดัน โดยเฉพาะประเด็นการเลื่อนกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และไม่กล้าเข้ามาลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ดัชนีหุ้นไทยยังไปไหนไม่ได้ไกล

จากการสำรวจความคิดเห็นของโบรกเกอร์ในประเด็นผลกระทบของการเลื่อนการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบระยะสั้น หากการเลื่อนช่วงเวลาไม่เกิน 1 เดือน น่าจะยอมรับได้ และประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยได้รับตอบรับกับผลกระทบของการเลื่อนการเลือกตั้งไปแล้ว

หุ้นที่ราคาพุ่งแรงเดือนม.ค 01

บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ประเมินว่า ผลกระทบกับดัชนีหุ้นไทยมีส่วนอ่อนไหวไปกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งหากนับ 150 วันตามกรอบกฎหมายจะเป็นวันสุดท้ายวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แต่ขณะเดียวกันก็ห้ามทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2562 จากเดิมตามโรดแม็ปเร็วสุด คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้ฝ่ายวิจัยฯ จึงคาดว่า หากเลื่อนก็จะอยู่ในราวปลาย มีนาคม – เมษายน 2562 ก็อาจจะกระทบทางลบกับดัชนีในระยะสั้น แต่หากเลื่อนไม่นาน ก็คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

สอดคล้องกับ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นกลางต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง และมองว่ากรอบจะยังอยู่ใน 150 วัน นั่นคือ ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าการเลื่อนการเลือกตั้งดังกล่าวไม่กระทบบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะยังมีกรอบระยะเวลา (Timeline) ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในภาพการลงทุนเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 ฝ่ายวิจัยยังคงประเมินว่ายังเป็นช่วงการทยอยรับปัจจัยลบต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงการรายงานตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้ง 3 ประเทศหลักอย่าง สหรัฐ, จีน และยุโรป ซึ่งคาดส่วนมากจะออกมาต่ำกว่าคาด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นในระยะสั้น ดังนั้นแนะนำนักลงทุนชะลอการลงทุนในช่วงนี้ และกลับมาทยอยสะสมอีกครั้งภายหลังเริ่มมีสัญญาณบวก

ฝ่ายวิจัยประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1,743 จุด อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกของปีนี้ มองว่าจะเป็นช่วงที่มีความผันผวนสูงไม่ต่างจากไตรมาสที่ผ่านมา มองกรอบการแกว่งตัวบริเวณ 1,540 – 1,645 จุด

หุ้น10

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส เชื่อว่าแม้ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับปัจจัยกดดันทั้งการเลื่อนการเลือกตั้ง และการปรับฐานของตลาดหุ้นโลก กลยุทธ์การลงทุนควร เลือกลงทุนหุ้นในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ประกอบด้วย

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2561 เติบโตตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงเชื่อว่าราคาหุ้นน่าจะสะท้อนปัจจัยลบทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมและการตั้งสำรองสำหรับ IFRS9 ไปมากแล้ว ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน

หุ้นกลุ่ม ICT คาดว่าจะกลับมาเติบโตโดดเด่นในปี 2562 โดยเฉพาะ 3 ค่ายมือถือหลัก คาดว่ากำไรปกติจะเติบโตถึง 34.7% ในปี 2562 จากหุ้น DTAC เป็นหลัก และพัฒนาการบริการ 5G จะช่วยต่อยอดแหล่งรายได้ใหม่ๆ ตาม Digital Life

นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณในช่วงในเดือนมกราคม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า หุ้นทั้ง 2 กลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าภาพรวมตลาดมาก และให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 5 ปี

เริ่มจากกลุ่มธนาคารให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.8% และกลุ่ม ICT 4 % ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยน้อยกว่าอยู่ที่ 2.2% โดยให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4 ใน 5 ปี

หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปเป็นรายบริษัท พบว่า มีหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อ และมักจะปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดฯ ในช่วงเดือน มกราคม ย้อนหลัง 5 ปี เริ่มจาก

หุ้นในกลุ่มธนาคาร คือ หุ้น TMB ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.2%, หุ้น KBANK 4.8%, หุ้น TCAP 3.4% และ หุ้น KKP 2.4% และหุ้นในกลุ่ม ICT อย่างหุ้น INTUCH ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.9%, หุ้นADVANC 4.5% และ หุ้น DTAC 2.3%

saraly brand
ภาพจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

ฝ่ายวิจัยฯ ชอบ หุ้น KBANK มากที่สุดในกลุ่มธนาคาร จากการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่ที่จะได้รับผลบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทยอยเกิดขึ้น แม้ทิศทางค่าธรรมเนียมเป็นขาลง แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการธุรกรรม mobile banking เป็นไปในเชิงรุก จะช่วยผลักดันรายได้ทางอื่นๆ แทน ขณะที่ประเด็นกังวลคุณภาพสินทรัพย์เริ่มเบาบางลง หลัง NPL  เริ่มทรงตัว ปัจจุบันราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นน้อย( laggard) กว่าหุ้นธนาคารใหญ่อื่นๆ

รวมทั้งในกลุ่ม ICT ชอบ หุ้น DTAC มากสุดจากผลประกอบการกลับมา Turnaround ตั้งแต่ ไตรมาส 4 ปี 2561 เป็นต้นไป หลังหยุดรับรู้ต้นทุนคลื่นสัมปทาน พร้อมกับได้คลื่นความถี่ใหม่เข้ามาทดแทน ทำให้คุณภาพการให้บริการดีขึ้น บวกกับพร้อมในการผลักดันกลยุทธ์ฟื้นฟูศักยภาพการแข่งขันกลับมาเทียบเคียงกับคู่แข่ง

ฝั่งของ บล.กรุงศรี แนะนำกลยุทธ์การลงทุน เดือนมกราคมว่า ดัชนีหุ้นไทยน่าจะพักตัวในกรอบ 1,530 – 1,600 จุด และให้เลือกซื้อหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว สงครามการค้ายังกดดัน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังฟื้นตัวได้ไม่มาก ส่งผลให้หุ้นในภาคการค้าหรือ Global Play ยังได้รับผลกระทบ ดังนั้นการลงทุนในช่วงเดือน มกราคมยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และยังเน้นธีมการลงทุนเป็นหุ้น Domestic Play ในกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความปลอดภัยรายได้เป็นไปตามสัญญาระยะยาวที่ทำไว้กับภาครัฐ และ อีกกลุ่มเป็นกลุ่มค้าปลีกซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเลือกตั้ง

ทั้งนี้ตามสถิติการเลือกตั้งของไทยในช่วง 5 ครั้งหลังสุดพบว่ากลุ่มค้าปลีกเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีสุดทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง โดยหุ้นเด่นเดือนมกราคม ได้แก่ หุ้น BEM, BGRIM, CPALL, CENTEL และ MTC

ส่วนหุ้น CPALL เป็นหุ้นเด่น ในกลุ่มค้าปลีก และ หุ้น MTC เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มไฟแนนซ์ที่คาดว่าจะได้ผลบวกจากการจับจ่ายใช้สอยที่คึกคักขึ้นในช่วงต้นปี และก่อนเลือกตั้งซึ่งในอดีตจะมีเงินหมุนเวียนสูงขึ้นจากการหาเสียงเลือกตั้ง และหุ้น CENTEL ได้อานิสงส์จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วง High season และได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight