Politics

ย้อนรอยพายุไต้ฝุ่น ‘เกย์’ ถึง ‘ปาบึก’

ช่วงนี้ภาคใต้กำลังเฝ้าระวังพายุ “ปาบึก” พูดถึงพายุ เราจะนึกถึงลมที่พัดรุนแรง ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินเรื่องราวของ พายุหลายแบบเลย เช่น“ดีเปรสชั่น” บ้าง “ไต้ฝุ่น” บ้าง ถ้าเป็นพายุที่เกิดในต่างประเทศก็จะเรียก “เฮอริเคน” หรือ “ทอร์นาโด”  ก็ไม่รู้ว่าพายุแบบไหนมันมีขนาดรุนแรงกว่ากันยังไง จำได้แต่พายุเกย์ที่พัดเข้าสู่ฝั่งภาคใต้ เมื่อปี 2532

พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งเดิมเป็นพายุหมุนเขตร้อน ที่ก่อตัวในบริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย ได้ทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่น ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง อำเภอปะทิวกับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 เวลาประมาณ 10.30 น. ความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

LARBBB 32096
ฐานข้อมูลภาพมติชน

ในบรรยายสรุปที่เคยไปเรียนรู้ที่ชุมพร ชาวบ้านที่นั่นเล่าว่า “ก่อนจะมีพายุ ท้องฟ้าที่นั่นจะเงียบสงัดแม้แต่ลมยังไม่พัด นกบินเต็มท้องฟ้าส่งเสียงร้องเหมือนแจ้งเตือนกันสนั่น หรือเหมือนกำลังตกใจอะไรบางอย่าง หรือกำลังหนีภัยที่กำลังจะมีเยือน คือทุกอย่างเงียบมาก มีชาวบ้านที่ติดตามข่าวสารทางวิทยุก็จะเปิดรับฟังข่าวสารการประกาศการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง ว่าพายุจะขึ้นฝั่งที่จังหวัดชุมพร แล้วจู่ๆสัญญาณการถ่ายทอดเสียงก็หายไป สักพักใหญ่ๆลมก็เริ่มพัดสังเกตจากบนภูเขาข้างบ้านค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ท้องฟ้ามืดครึม พร้อมกับฝนที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พร้อมกับเสียงครื้นๆของลม ไม่นานก็มีเสียงกิ่งไม้หัก ต้นไม้โค่นพร้อมกับเศษกระเบื้องหลังคาด สิ่งของรอบบ้าน ภายในบ้านปลิวไปกับล้ม ต้นไม้โค่น ล้ม บ้างก็ถอนรากถอนโคน บางคนได้รับบาดเจ็บ บางคน หลบที่ปลอดภัยได้ แต่กว่าที่ความแรงและศูนย์กลางของพายุจะหมุนผ่านไปใช้เวลานานมาก หลังจากนั้นก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก”

นี่คือเรื่องราวของพายุไต้ฝุ่นเกย์ ผลของการ พัดผ่านคราวนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต และสร้างความเสียหายอย่างมากในพื้นที่ของจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย ตลอดจนจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นความทรงจำที่โหดร้ายของใครหลายๆคน

49476311 2286797018271872 4732651680670154752 o

เมื่อเช้านี้ ( 3 มค.) ผู้ผอ.อุตุนิยมวิทยา สุราษฎร์ธานี เล่าให้ฟังที่มาของว่า พายุเกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยอากาศ 2 บริเวณ มีอุณหภูมิแตกต่างกันอย่างมาก อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น อากาศในแนวราบที่อุณหภูมิต่ำกว่าจึงเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดการหมุนของอากาศจนส่งผลให้เกิดเป็นพายุ ซึ่งการจะเรียกชื่อพายุอย่างไรนั้น ก็ดูที่ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางพายุ ถ้าจะแบ่งก็มี 3 อย่างที่ชุดเจนคือ

พายุดีเปรสชั่น (Tropical depression) พายุโซนร้อนที่มีความเร็วลดลง โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กม./ชม. (34 นอต) ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก มีลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว มีกำลังไม่แรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนได้ แต่ถ้ามีฝนตกหนักมากๆ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้

 พายุโซนร้อน (Tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 63 กม./ชม.ขึ้นไป (34 นอต) แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม. (64 นอต) มีกำลังแรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ รวมทั้ง ทำให้กิ่งไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ฝนที่ตกอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนอาจทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่มได้

 พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป (64 นอต) มีระดับความรุนแรงมากที่สุด สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อตหรือเพลิงไหม้ได้ ในทะเลมีคลื่นลมแรงจัดมาก เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก และอาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้

พายุระดับนี้จะเกิด “ตาพายุ” ขึ้นตรงศูนย์กลางพายุ เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ มากที่สุด ลมสงบ ท้องฟ้าโปร่ง อาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย ส่วนรอบๆ จะเป็นบริเวณที่มีลมพัดแรงจัด มีเมฆครึ้ม มีฝนตกพายุรุนแรง

777 1

ที่ผ่านมา พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนพายุที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อยมาก และพายุ “ปาบึก” ที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวังกันนี้ ก็คงนับเป็นพายุลูกแรกของปี 2562 ของประเทศไทย

แล้วเจ้าชื่อที่มาของพายุ“ปาบึก” มาจากไหน สืบค้นข้อมูลไปมาหลายที่พบว่า กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เป็นหน่วยงานที่กำหนดชื่อให้กับพายุหมุนเขตร้อน เมื่อระบบได้รับการประมาณว่า มีความเร็วลมเฉลี่ยภายใน 10 นาที ที่ 65 กม./ชม. (40 mph) โดย JMA จะคัดเลือกชื่อจากรายการ 140 ชื่อ ซึ่งได้รับการปรับปรุงโดย 14 ประเทศสมาชิกและดินแดนของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก

49896792 2287497808201793 5583332114704629760 n7777

ปาบึก อยู่ในกลุ่มชื่อพายุหมุนเขตร้อน ที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ตั้งโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นชื่อปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ (ปลาบึก) อยู่ในแม่น้ำโขง

และล่าสุดวันนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีการติดตามการแจ้งเตือนข่าวสาร และเฝ้าระวังผลกระทบของ “พายุปาบึก” อย่างใกล้ชิดแบบไม่ตื่นตระหนกแต่เป็นการเฝ้าระวังแบบป้องกันเพราะไม่มีใครต้องการให้เกิดความเสียหายเช่นอดีตที่ผ่านมา

ขอบคุณข้อมูล ..จากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight