Finance

นักลงทุนเตรียมตัว!! ได้ลุ้น ‘January Effect’ แน่

ดัชนีตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงการปรับฐานครั้งใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีแตะระดับนิวโลว์ในรอบปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ลงทุนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นเพราะไม่แน่ใจว่าแนวโน้มการลงทุนจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2562 เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่คอยกดดันทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ

ประเด็นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจคือ แรงขายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ซึ่งจะมีการครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงต้นปี 2562 หลายๆคนกังวลว่าจะมีแรงเทขายที่ทำให้ดัชนีหุ้นปรับลดลงไปได้อีก แต่ปัจจุบันเริ่มมีโบรกเกอร์ประเมินว่า แรงขายที่จะเกิดขึ้นในรอบนี้ไม่น่ากังวล เพราะเม็ดเงินมีจำนวนไม่มากเกินกำลังที่พอจะรับมือได้ ขณะเดียวกันในเดือนม.ค.ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง หรือเรียกว่า “ภาวะ January Effect”

ดัชนีหุ้นไทยในเดือนม.ค 01

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในเดือนมกราคมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศ มียอดซื้อสุทธิทุกปีเช่นกัน

ในเดือนมกราคมปี 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.17% ยอดซื้อสุทธิของสถาบันในประเทศอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท เดือนมกราคมปี 2560 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.23% กองทุนมียอดซื้อสุทธิ 2.5 พันล้านบาท เดือนมกราคมปี 2559 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.01% กองทุนมียอดซื้อสุทธิ 8.6 พันล้านบาท  เดือนมกราคมปี 2558 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.58% กองทุนมียอดซื้อสุทธิ 9.7 พันล้านบาท เดือนมกราคมปี 2557 ดัชนีปรับตัวลดลง 1.88% กองทุนมียอดซื้อสุทธิ 3.4 พันล้านบาท

ดังนั้นเมื่อตัวเลขสถิติส่วนใหญ่ในเดือนมกราคมดัชนีจะปรับขึ้นมากกว่าลง และกองทุนสถาบันก็มียอดซื้อ โอกาสที่แนวโน้มการลงทุนเดือนมกราคมปี 2562 ก็มีโอกาสที่จะอยู่ในทิศทางเดียวกัน

สอดคล้องกับการที่ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ในเดือนมกราคมปี 2562 มีโอกาสเกิดภาวะJanuary Effect ซึ่งจากการคำนวณของเราพบว่า มีความเป็นไปได้สูงและจะเป็นอีกครั้งที่ ดัชนีหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกสอดคล้องกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2015-2018) โดยมีปัจจัยสนับสนุนความคิดของเราที่สำคัญ ได้แก่

หุ้น12

ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่า แรงไถ่ถอนกองทุน LTF ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม หากดัชนีเปิดปีที่ระดับ 1,600 จุด จะอยู่เพียงราว 12,400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากแรงจูงใจในการขายกองทุนที่อยู่ในระดับต่ำ โดยจากการคำนวณของเราพบว่านักลงทุนที่ถือครองกองทุน LTF มาครบ 5 ปีปฏิทินจะมีกำไรจากการถือครองอยู่ที่ประมาณ 14.6%

ถึงแม้จะมีแรงไถ่ถอนกองทุนออกมาจริง เราประเมินว่าเงินสดที่นักลงทุนสถาบันในประเทศถืออยู่ในมือนั้นเพียงพอที่จะรองรับการไถ่ถอนดังกล่าวได้ โดยจากการคำนวณของเราประเมินว่าในเดือนธันวาคมปัจจุบันนี้ มีเม็ดเงินเข้าซื้อกองทุน LTF อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท (น้อยกว่าเดือนธันวาคมปีก่อนๆ เนื่องจากระหว่างทางปี 2561 มีเม็ดเงินเข้าซื้อกองทุน LTF สูงกว่าทุกๆปี)

แต่หากพิจารณาดูตัวเลขการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันในเดือนธันวาคม 2561 ล่าสุดนี้จะพบว่าเป็นการขายสุทธิราว 700 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้เราจึงประเมินว่านักลงทุนสถาบันกำลังมีเงินสดส่วนเกินในมืออยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าตัวเลขไถ่ถอนคาดการณ์ของเราข้างต้นมูลค่า 12,400 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสสูงที่นักลงทุนสถาบันในประเทศจะกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิหุ้นไทยในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับภาพที่เกิดขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนจากกรณีศึกษาดังกล่าว แนะนำนักลงทุนที่ยังคงถือเงินสดในระดับมากกว่าปกติเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 นี้

โดยกลุ่มหุ้นที่แนะนำโฟกัสยังคงได้แก่หุ้นขนาดใหญ่ที่จ่ายเงินปันผลในระดับสูง เช่น PTT, SCC, ADVANC สำหรับนักลงทุนที่ต้องการขายหุ้น หรือผู้ที่มีกองทุน LTF/RMF หุ้นที่ครบกำหนดอายุในปี 2562 และต้องการไถ่ถอน มองว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขายออก หรือไถ่ถอนในช่วงวันแรกหรือสัปดาห์แรกของปี โดยสามารถรอให้ดัชนีไต่ระดับขึ้นไปก่อนจนกระทั่งถึงช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า

หุ้นไทย

ฝั่งทาง บล.ทิสโก้ แนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์หลัก หากดัชนีหุ้นรีบาวด์เป็นจังหวะขายลดพอร์ตและถือเงินสดเพิ่ม และมองดัชนีหุ้น มีแนวโน้มแกว่งซิกแซกลง ยกเว้นดัชนีในสิ้นปีนี้จะดีดกลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,580 ได้เป็นอย่างน้อยจึงจะเริ่มดูดีขึ้น ส่วนพอร์ตลงทุน แนะนำให้ถือหุ้นที่ทนต่อการแกว่งตัวได้ และยังไม่ซื้อเพิ่ม โดยปัจจัยที่น่าห่วงต้นปีหน้าจะทำให้ดัชนีมีโอกาสผันผวนได้คือการไถ่ถอนจากเงิน LTF ที่ครบกำหนด

ขณะที่บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ได้แนะนำให้สะสมหุ้นพื้นฐานสำหรับการลงทุนในปี 2562ไ ด้แก่ หุ้นธนาคารพาณิชย์ โดยธีมการลงทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สำหรับปี 2562 คือมูลค่าหุ้นถูก (ราคาหุ้นลงมาอยู่ระดับ Book value) แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น  และประเทศไทยเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนทั้งโครงการภาครัฐฯและเอกชน เน้นย่อตัวสะสม KBANK เป้าพื้นฐาน 215 บาท, แนวรับ 172 บาท และ 162 บาท) และ KTB (เป้าพื้นฐาน 22.4 บาท, แนวรับ 19.5 บาท และ 19.0 บาท)

หุ้นกลุ่มค้าปลีก โดยประเมินการบริโภคในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง  ขณะที่มูลค่าหุ้นที่เราเลือกมาทั้ง 2 ตัวปรับลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก CPALL พีอี 25 เท่า (ค่าเฉลี่ย 32 เท่า), COM7 พีอี 20 เท่า (ค่าเฉลี่ย 25 เท่า) เน้นย่อตัวสะสม CPALL* (เป้าพื้นฐาน 90 บาท, แนวรับ 68 บาท และ 67 บาท) และ COM7 (เป้าพื้นฐาน 26 บาท, แนวรับ 16.0 บาท และ 15.5 บาท)

หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ประเมิน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จะเป็นเป้าหมายพักเงิน  และเป็นหุ้น Defensive ก็จริง แต่ยังมีการเติบโตจากการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ย่อสะสม EGCO (เป้าพื้นฐาน 280 บาท, แนวรับ 244 บาท และ 230 บาท) และ BGRIM (เป้าพื้นฐาน 31 บาท, แนวรับ 254.5 บาท และ 24.5 บาท)

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight