Economics

จับตา!! ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าฉุดราคาน้ำมันดิบปีหน้าร่วง

“ไทยออยล์” คาดปี 62 ปัจจัยเสี่ยงกระหน่ำฉุดราคาน้ำมันดิบดูไบร่วง คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 55-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2561 โดยประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 อยู่ที่ราว 69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2560 ที่ 53.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวขาขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีและพุ่งขึ้นเหนือระดับ 80 เหรียญดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบขยายตัวกว่า 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 99.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักงานพลังงานสากล – IEA เดือน ธ.ค. 61) ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว โดยเฉพาะในช่วงต้นปี

1545906418613 960x0

ส่วนในปี 2562 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับลดลงจากปี 2561 โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังตลาดเผชิญกับความเสี่ยงของอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มล้นตลาด จากปริมาณการผลิตของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องราว 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาเฉลี่ยที่ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้สหรัฐขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้ารัสเซีย

โดยมีโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบกว่า 4 โครงการที่จะนำน้ำมันดิบออกจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian ไปยังอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักของประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ประกอบกับ อิหร่านมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดิบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังได้รับการผ่อนผันจากสหรัฐฯ ให้สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดหวังว่าข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะพยุงให้ภาวะอุปทานล้นตลาดคลี่คลายลงบ้าง

oilgas

ในขณะที่ ความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมถึง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2562 ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัจจัยทั้งหมดนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่าคาดการณ์และส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน และนี่อาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกขยายตัวน้อยกว่าการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกจะขยายตัวราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

Avatar photo