Digital Economy

ชัดเจนสัปดาห์หน้า ‘ซิม-ดาต้า’ เพื่อผู้มีรายได้น้อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงตอนนี้ หากเดินตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ สิ่งที่จะได้ยินประชาชนพูดกันหนาหูก็คือนโยบาย “แจก” ที่ทยอยส่งออกมาอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล คสช. โดยล่าสุดคือประเด็นของ “การอุดหนุนค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต” เฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูล (Internet Data) ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ที่เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาถามหาความชัดเจนจากรัฐบาลกันมากขึ้น

1200px Thailand 06 27 Bankoks Khao San Road 158628997

 

สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้นอาจเป็นในลักษณะของแพกเกจ ที่คิดราคาตามที่รัฐบาลประกาศสนับสนุน โดยผู้ที่มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ของรัฐบาลอาจจะได้รับรหัสพิเศษมากรอกลงในระบบเพื่อขอใช้สิทธิ เมื่อค่ายโอเปอเรเตอร์ทำการตรวจสอบว่าชื่อกับหมายเลขโทรศัพท์ตรงกันตามสิทธิที่ได้รับก็จะสามารถเข้าใช้บริการดาต้าได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ส่วนความชัดเจนของนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า

แต่ก่อนจะไปถึงสัปดาห์หน้านั้น คำถามที่ดังขึ้นไม่แพ้กันก็คือนโยบายนี้ของภาครัฐเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจหรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ มีคำตอบจาก นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การอุดหนุนดังกล่าวเป็นโครงการเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ อีกทั้งโครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายสามารถเข้าร่วมแข่งขัน และเสนอแพกเกจที่เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย จึงไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนดังที่เป็นข่าว

อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้โครงการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 โครงการนี้จึงไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแต่อย่างใด

ซิมจน

อย่างไรก็ดี หากหันมาฟังเสียงจากกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์บนอินเทอร์เน็ต ทีมข่าวได้รับการเปิดเผยจากตัวแทนเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีรายหนึ่งว่า นโยบายนี้อาจไม่เห็นผลอย่างที่รัฐบาลต้องการ โดยเกษตรกรรายนี้เปรียบนโยบายดังกล่าวว่าเป็นเพียง “แห” เท่านั้น แต่หากจะให้แหนั้นมีประโยชน์จริง ควรสอนวิธีใช้แหนั้นด้วย

“เกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจำนวนมากยังไม่รู้จักการใช้แอพพลิเคชัน หรือไม่รู้ว่าข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตนั้นอยู่ตรงไหน ต้องเข้าถึงอย่างไร ที่ผ่านมา เกษตรกรมองโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารมาโดยตลอด ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กันนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นโทรศัพท์ฟีเจอร์โฟน ไม่ใช่สมาร์ทโฟน จึงอยากให้รัฐบาลคิดให้ครอบคลุมกว่านี้ และมองสภาพการใช้งานของประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย”

โดยคำแนะนำจากเกษตรกรรายนี้คืออยากให้รัฐบาลหันมาพัฒนาอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากกว่านี้ ไม่ใช่เข้าถึงได้แค่บางพื้นที่ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า

สำหรับเกษตรกรรายนี้ ปัจจุบัน เขามีการใช้สมาร์ทโฟน และได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน ของจังหวัดจันทบุรีในการใช้แอพพลิเคชันของทางการตรวจสอบเลขทะเบียนยา, ปุ๋ย อยู่บ้าง รวมถึงใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตตรวจสอบสภาพอากาศ สภาพดิน แต่ภาพที่เขาถ่ายทอดออกมาผ่านทีมข่าวก็คือ ยังมีเกษตรกรที่มีฐานะยากจนอีกมากที่เข้าไม่ถึง หรือไม่ทราบถึงประโยชน์จากการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงอยากให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนมากกว่านี้เสียก่อน ดีกว่าปล่อยให้นโยบายนี้ออกมาโดยที่ไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุด

Avatar photo