Economics

‘พันธมิตรบีทีเอส’ ตบเท้ายื่นซองไฮสปีดเผยมั่นใจ 100%

“กลุ่มพันธมิตรบีทีเอส” โผล่ยื่นซองรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลั่นมั่นใจ 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.38 น. วันนี้ (12 พ.ย.) ผู้บริหารกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ได้เดินทางมายื่นซองประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-ระยอง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท ณ ที่ทำการสำนักงานบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า (มักกะสัน) ด้วยตัวเอง

m2 1

ผู้บริหารกลุ่มบีเอสอาร์ที่เดินทางมาในวันนี้ ประกอบด้วยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ผู้บริหารและพนักงานบีทีเอสได้สักการะพระพรหม บริเวณหน้าบริษัท เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนยื่นเอกสารร่วมประมูล

โดยบีทีเอสได้ยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสูง 3 สนามบินฯ ในนามกลุ่มบีเอสอาร์ แบ่งเป็นบีทีเอสถือหุ้น 60%, ซิโน-ไทย 20% และราชบุรีโฮลดิ้ง 20%

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่กลุ่มบีเอสอาร์ได้เดินทางมายื่นเอกสารประมูล ประเภทเอกสารไม่ปิดผนึกแล้ว จากนั้นนายสุพงษ์และผู้บริหารคนอื่นของบีเอสอาร์จึงได้เดินทางมายื่นซองประมูลที่ 1 – 4 ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

สำหรับความมั่นใจในการประมูลครั้งนี้มีเต็ม 100% เพราะถ้าไม่มั่นใจคงไม่มายื่น ส่วนจะชนะการประมูลหรือไม่ ก็อยู่ที่ข้อเสนอ

S6 1

โดยวันนี้ได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ 1 คันและรถตู้อีก 1 คัน ขนซองประมูลมายื่นข้อเสนอ รวมถึงมีรถกระบะอีก 1 คันขนโมเดลต้นแบบมายื่นด้วย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการประมูลครั้งนี้ กลุ่มบีเอสอาร์ได้ยื่นข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนออื่นๆ ด้วย แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้

ถ้ายึดหลักการตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ต้องเป็นผู้ชนะการประมูลก่อน จากนั้นคณะกรรมการมาตตรา 35 ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จึงพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 ตามขั้นตอนต่อไป

m3 1

สำหรับกรณีที่คู่แข่ง คือ ซีพี ที่เปิดตัวพันธมิตรหลายรายนั้น ส่วนตัวไม่หนักใจ เพราะก็มีพันมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติ มีซิโน-ไทย เป็นพันธมิตรผู้รับเหมาอันดับต้นๆ ของประเทศ รวมถึงมีพันธมิตรอีกมากมาย แต่ยังไม่ต้องการเปิดเผยรายละเอียด นอกจากนี้บีทีเอสก็มีประสบการณ์การเดินรถมาแล้ว

ด้านโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งต้องรับมอบพร้อมโครงการรถไฟความเร็วสูง ถ้าชนะการประมูลนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็คิดว่าทำได้ โดยมองภาพรวมมากกว่าว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า ยอมรับว่า 5 ปีสำหรับการก่อสร้างเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง 100 กิโลเมตรเป็นเวลาค่อนข้างจำกัด แต่อย่างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 3 ปี ก็ยังสามารถทำได้ จึงคิดว่าโครงการนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีเวลาในการวางแผนมากพอ

สำหรับงานก่อสร้าง ปัจจุบันบีเอสอาร์ยังไม่ได้พูดคุยกับใครอย่างจริงจัง แต่ถ้าบีเอสอาร์ชนะการปรมูล ผู้รับเหมาหลายรายก็พร้อมจะช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้หารือกับผู้รับเหมารายกลางไว้ทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้แม้คนจะมองว่า STEC ไม่ใช่ผู้รับเหมาเบอร์ 1 ถ้าเทียบกับคู่ชิงรถไฟความเร็วสูงอีกราย แต่อีกไม่นาน STEC ก็จะขึ้นเป็นผู้รับเหมาเบอร์ 1

 

เปิดทีโออาร์ค่าเช่าทำเลทอง ‘มักกะสัน-ศรีราชา’ควบรถไฟความเร็วสูง

2 เจ้าสัวแข่งเดือดชิงรถไฟความเร็วสูง 1.2 แสนล้าน

Avatar photo