Environmental Sustainability

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้าจาก ‘ไม้โตเร็ว’

ไม้โตเร็วกำลังกลายเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากชีวมวลแบบเดิม ที่เป็นเศษวัสดุทางการเกษตรเริ่มขาดแคลน มีการใช้ในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ามากขึ้น

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ไม้โตเร็ว ที่มีศักยภาพในการนำมาปลูกเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก และเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทย คือ ไม้สกุลยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สนประดิพัทธ์ เสม็ดขาว และไผ่ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศ มีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถปลูกพลังงานจากดินได้โดยไม่มีวันหมด

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ไม้โตเร็ว

จาก ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ไม้โตเร็ว ทำให้มีแนวคิดการนำ ไม้โตเร็ว มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้านั้น เนื่องจากชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตพลังงาน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้วเกือบทั้งหมด ในขณะที่ชีวมวลส่วนที่เหลือภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ในพื้นที่เพาะปลูกก็ไม่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงาน เนื่องจากต้นทุนในการรวบรวมและขนส่ง

เศษวัสดุแบบเดิมที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไฟฟ้า กำลังหายากขึ้นและราคาแพง เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม เศษไม้จากการแปรรูปไม้ เปลือกไม้ กาบและกะลามะพร้าว เป็นต้น เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์ไปหลายด้าน ทั้งในอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

407 A edit 01 e1638880409796

จากข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ชีวมวล ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้จึงมีอยู่อย่างจำกัด การปลูกไม้โตเร็วจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานได้ในอนาคต

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงเสนอให้ส่งเสริมปลูก ไม้โตเร็ว เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เช่น ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ กระถินณรงค์ และกระถินเทพา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงชีวมวล และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับชุมชน และประเทศโดยรวม

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ไม้โตเร็ว

การผลิตไฟฟ้าจาก ไม้โตเร็ว คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้เสนอรายงานการศึกษาพื้นที่ ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้โตเร็วทั่วประเทศพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ดินที่มีศักยภาพ จะปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้โตเร็ว มีเนื้อที่สูงสุดได้ถึง 51 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 10,200 เมกะวัตต์ และสูงสุด 25,500 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วย

407 C edit 01 e1638880456601

  1. ที่ดินนาดอนนอกเขตชลประทาน มีจำนวน 19 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 3,800 เมกะวัตต์ และสูงสุด 9,500 เมกะวัตต์
  2. พื้นที่ทำไร่ผลผลิตต่ำ มีจำนวน 6.1 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 1,220 เมกะวัตต์ และสูงสุด 3,050 เมกะวัตต์
  3. พื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายปลูกพืชทดแทน มีจำนวน 4.2 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 840 เมกะวัตต์ และสูงสุด 2,100 เมกะวัตต์
  4. พื้นที่ทิ้งร้าง นาร้าง และรกร้างว่างเปล่า มีจำนวน 10 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 2,000 เมกะวัตต์ และสูงสุด 5,000 เมกะวัตต์
  5. พื้นที่ที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีจำนวน 1.7 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 340 เมกะวัตต์ และสูงสุด 850 เมกะวัตต์
  6. ที่ดินกรมป่าไม้ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม มีจำนวน 10 ล้านไร่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าต่ำสุด 2,000 เมกะวัตต์ และสูงสุด 5,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่มีศักยภาพดังกล่าว สามารถนำไปพัฒนาเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนอื่นได้ด้วยนอกจากการปลูกไม้โตเร็ว เช่น การปลูกพืชพลังงานผลิตก๊าซชีวภาพ การติดตั้งกังหันเพื่อผลิตพลังงานจากลม และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ดังนั้นการปลูกพืชโตเร็วจะต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาการผลิตการใช้พลังงานรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงโอกาสพัฒนาพื้นที่ ไปใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์อื่น ที่มีความเหมาะสมตามนโยบายรัฐบาล

ตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ได้กำหนดตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ให้มีการจัดหาวัตถุดิบพลังงานทดแทนเพิ่มเติม โดย ไม้โตเร็ว มีศักยภาพที่จะเข้ามาเสริมความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงชีวมวล แม้ว่าจะยังไม่มีการส่งเสริมปลูกไม้โตเร็วเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างชัดเจน แต่การส่งเสริมดังกล่าวทำให้มีความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มสูงขึ้น และบทบาทของไม้โตเร็วจะมีมากขึ้น ในฐานะแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ไม้โตเร็ว

แต่ตามแผน AEDP 2018 จะเห็นว่า ยังกำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล อีก 3,500 เมกะวัตต์ หรือ รวมอยู่ที่ 5,790 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และ กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากชีวภาพ จากน้ำเสีย ของเสีย และพืชพลังงาน อีก 1,183 เมกะวัตต์ หรือ รวมอยู่ที่ 1,565 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580

นอกจากนี้ยังบรรจุโครงการ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า ระหว่างปี 2563-2567 รวมอยู่ที่ 1,933 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เชื้อเพลิงชีวมวล 600 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย 183 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 600 เมกะวัตต์ รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) กับชีวมวล และ/หรือ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย และ/หรือก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 550 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพลังงาน กำหนดเป้าหมายโครงการนำร่อง รับซื้อไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ โดยเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบช่วงต้นปี 2564

การปลูกไม้โตเร็ว เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล หากจะให้โรงไฟฟ้าดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนเศษวัสดุที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เกษตรกรจะต้องรวมตัวเป็นกลุ่มภายใต้ ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) จะสร้างโอกาสที่เกษตรกรจะมีรายได้จากการดูแลแปลงปลูกไม้โตเร็วให้เป็นไปตามแผนการปลูก อีกทั้งยังช่วยลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้กับคนในชาติ

อีกทั้งยังช่วยด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ เพราะไม้โตเร็วจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน และยังช่วยป้องกันการกัดเซาะ แก้ปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนได้เป็นอย่างดี และเป็นการสร้างแนวกันชนไม่ให้สัตว์ป่าบุกรุกแปลงพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้ในบางพื้นที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight