Environmental Sustainability

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้าจาก ‘อ้อย’

“อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาล และพลังงานทดแทนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก

กลุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดทำฐานข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2561 พบว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นอุตสาหกรรมทางการเกษตร สาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'อ้อย'

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นแหล่งสร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย มากกว่า 387,408 ราย และแรงงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประมาณกว่า 1,000,000 ราย นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้ จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศและส่งออก มูลค่าปีละประมาณ 150,000 ล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดการสร้างงาน และสร้างมูลค่าในประเทศ

ในปี 2560/61 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11.54 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อย 134.93 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลทราย 11.19 ล้านตัน จำหน่ายภายในประเทศ 2.60 ล้านตัน และส่งออก 12.11 ล้านตัน มีโรงงานน้ำตาลทรายที่ประกอบกิจการ 54 โรงงาน

ตามแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย (Roadmap) ปี 2562 ของ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้า โดยในปี 2569 คาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ 180 ล้านตัน และจะมีชานอ้อย เพิ่มขึ้นเป็น 53.20 ล้านตัน จากปัจจุบันที่ 37.78 ล้านตัน ซึ่งจะนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ 4,000 เมกะวัตต์ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 1,800 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตที่ 1,734.5 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟเข้าระบบ 788.82 เมะวัตต์

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'อ้อย'

สอน. พยากรณ์การเพาะปลูกอ้อย ฤดูการผลิตปี 2563/64 ครั้งที่ 1 ครอบคลุม 47 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า มีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงาน 10,621,512 ไร่ มีปริมาณอ้อยส่งโรงงาน 74,707,927 ตัน คิดเป็นผลผลิต 7.03 ตันต่อไร่

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘อ้อย’ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า

แหล่งเพาะปลูก 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา

ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยปริมาณมาก จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกนั้น ทำให้แต่ละปีเกิดเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากการทำไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล สามารถนำมาใช้พลังงานชีวมวลจากอ้อย

เศษวัสดุจากอ้อยที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ คือ

ใบและยอดอ้อย โดยปกติเกษตรกรจะทำการเผาไร่อ้อยตอนที่ตัดอ้อยไปขาย ดังนั้น จึงยังไม่มีการเก็บ และรวบรวมใบและยอดอ้อย เพื่อนำมาใช้ทางด้านพลังงานหรือด้านอื่น ๆ

ชานอ้อย เป็นเศษวัสดุเหลือทิ้งจากอ้อยที่มาจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งชานอ้อยจะเก็บสะสมไว้ที่โรงงานน้ำตาล และไม่มีเหลือในพื้นที่

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'อ้อย'

สำนักวิจัยและค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลศักยภาพ     ชีวมวลในประเทศ ในปี 2556 พบว่า

“ใบและยอดอ้อย” เป็นชีวมวลที่เกิดในพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อย โดยในปีเพาะปลูก 2556 มีปริมาณที่เกิดขึ้น 17,016,248.08 ตัน/ปี มีปริมาณคงเหลือ 15,170,760.34 ตัน/ปี มีศักยภาพเทียบเท่าน้ำมันดิบ 5,575.58 ktoe/ปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 13,046.85 GW-h/ปี หรือ คิดเป็นพลังงานติดตั้ง 1,647.33 เมกะวัตต์

“ชานอ้อย” เป็นชีวมวลที่เกิดในโรงงานน้ำตาล โดยในปีเพาะปลูก 2556 มีปริมาณที่เกิดขึ้น 28,026,761.54 ตัน/ปี โดยปริมาณทั้งหมดถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าและความร้อน ไม่มีปริมาณคงเหลือ

ขณะที่ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018) ได้จัดทำข้อมูลชีวมวลคงเหลือที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เป็นพลังงาน ปี 2560 พบว่า ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘อ้อย’ มีดังนี้

ใบและยอดอ้อย มีปริมาณชีวมวลเกิดขึ้น 45,194,485 ตัน/ปี และมีศักยภาพเทียบเท่าน้ำมันดิบ 11,802 ktoe/ปี

404 C edit 01 e1638878971696

ชานอ้อย มีปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้น 65,526,016 ตัน/ปี ปัจจุบันถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ไม่มีปริมาณชีวมวลคงเหลือ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของชานอ้อยในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากทั้งหมดเกิดจากโรงงานน้ำตาล ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บและรวบรวม

การผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำของโรงงานน้ำตาล ที่มีชานอ้อยเหลือจากกระบวนการแปรรูปน้ำตาล ซึ่งมักจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกันไฟฟ้าส่วนที่เหลือสามารถขายเข้าระบบให้กับภาครัฐได้ ตามนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการต่าง ๆ ถือเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ

ศักยภาพสำหรับผลผลิตจากการปลูกอ้อยที่ยังเหลืออีกมาก คือ ใบและยอดอ้อย แม้จะมีต้นทุนการรวบรวมสูงกว่าชานอ้อย แต่ก็ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีศักยภาพสูง ซึ่งนับว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเศษวัสดุจากอ้อย ที่ยังรอวันถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight