COVID-19

ชัดแล้ว! เดินหน้าฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา หลังองค์การอนามัยโลก การแพทย์ยุโรป ยืนยันฉีดได้

สธ. พร้อมเดินหน้าฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา หลังองค์การอนามัยโลก องค์การแพทย์ยุโรป ยืนยัน ฉีดได้ ล่าสุดไทยฉีดวัคซีนแล้ว 44,960 ราย

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า หลังจากประเทศเดนมาร์ก และประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศไทย ชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา เนื่องจากพบผู้เสียชีวิต หลังการฉีดวัคซีน จากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด

แอสตราเซนเนกา

ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานการแพทย์ของยุโรป ที่ยืนยันตรงกันว่า วัคซีนแอสตราเซนเนกา มีความปลอดภัย และไม่เกี่ยวข้อง หรือทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด รวมทั้งแนะนำให้ ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาต่อไป

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้รายงานให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งนายอนุทินได้สั่งการให้นำข้อมูลนี้ ไปแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบ และเดินหน้าฉีดวัคซีนต่อไป

ดังนั้นในสัปดาห์หน้า จะนำข้อมูลนี้ให้กับคณะกรรมการทางการแพทย์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง รับทราบ หากไม่มีปัญหาอะไร จะดำเนินการฉีดวัคซีนตามแผนต่อไป

วันซีน14

ส่วนความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย จากข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม เวลา 18.00 น. พบว่า วันที่ 13 มีนาคม มีผู้ได้รับวัคซีนรวม 554 ราย แบ่งเป็น

  • บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข รวมอสม 49 ราย
  • เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 195 ราย
  • บุคคลที่มีโรคประจำตัว 66 ราย
  • ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 244 ราย

ขณะที่ จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 13 มีนาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว รวม 44,963 ราย แบ่งเป็น

  • บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข อสม 29,292 ราย
  • เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 9,786 ราย
  • บุคคลที่มีโรคประจำตัว 1,822 ราย
  • ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 4,063 ราย

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด ใน 13 จังหวัดพบว่า เกือบทั้งหมด ฉีดได้ครบ 100% หรือ 99% เหลือเพียง 3 จังหวัดที่ยังฉีดได้ไม่ถึงเป้าหมาย ได้แก่ ปทุมธานีฉีดไปแล้ว 81.9% สมุทรสาครฉีดไปแล้ว 49.4% และกรุงเทพฯฉีดไป 13.5%

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า กรุงเทพมหานคร จะมีการปรับการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

ขณะที่รายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญ วันที่ 13 มีนาคม ไม่พบรายใดที่มีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงเชื่อมั่นได้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปเกือบ 5 หมื่นราย ถือว่ามีความปลอดภัย

ส่วนผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ภายหลังได้รับวัคซีน โดยส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อยที่ไม่รุนแรงและไม่มีปัญหาอะไร พบว่า มีอาการไม่พึงประสงค์ หลังจากได้รับวัคซีนจำนวน 441 รายหรือ 9.21% ของผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด เช่น ปวดเมื่อย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น โดยทุกรายไม่มีอาการรุนแรง

นพ.โอภาสยังยกตัวอย่างถึงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดว่า ส่วนใหญ่เกิดในฝั่งยุโรป โดยกรณีไม่เกี่ยวกับวัคซีน จากประชากร 1 ล้านคน มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดประมาณ 10 ราย ส่วนกรณีการฉีดวัคซีน โควิด 3 ล้านคน มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด 22 รายหรือ เท่ากับ 7.3 ล้านรายต่อล้านเข็ม จึงถือว่าปกติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo