Business

อาณาจักรดิวตี้ฟรีแสนล้าน ‘เจ้าสัววิชัย’ ผู้ไม่ชอบให้ใครเรียกว่า ‘เจ้าพ่อ’

คิง เพาเวอร์1 1

เจ้าสัว “วิชัย ศรีวัฒนประภา” (นามสกุลเดิม รักศรีอักษร) เป็นที่รู้จักของสังคมในหลายแง่มุม

ในบทบาทหนึ่ง เขาคือประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ผู้เป็นที่รักของแฟนบอล ขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้ให้กำเนิดสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยร่วมทีมกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส และเจ้าชายวิลเลียม

อีกด้านหนึ่ง เขาชื่นชอบการสะสมพระเครื่อง และเป็นผู้ทำให้ ผ้ายันต์เจ้าพระคุณธงชัยโด่งดัง หลังจากสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในประเทศอังกฤษ

แต่สิ่งที่ผู้คนจดจำเขาได้ดีที่สุด คือ ในฐานะ “เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี” ผู้บุกเบิกธุรกิจดิวตี้ฟรีรายแรกๆ ของประเทศไทย และสร้างอาณาจักรดิวตี้ฟรีอันยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อ “คิง เพาเวอร์”

ความมั่งคั่งที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าสัววิชัยติดโผมหาเศรษฐกิจอันดับ 5 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5.2 พันล้านดอลลาร์  และเขายังได้รับสมญานามว่าเป็นผู้มี “Super Connection” ที่ยืนหยัดอยู่ได้ ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนเป็นขั้วไหนก็ตาม

คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ 1

ย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน เจ้าสัววิชัยเริ่มรู้จัก “ธุรกิจดิวตี้ฟรี” จากคำชักชวนของเพื่อนนักธุรกิจชาวฮ่องกง โดยเขาเริ่มศึกษาและซื้อหุ้นธุรกิจดิวตี้ฟรีในฮ่องกงในสัดส่วน 20% จากนั้นก็ก้าวไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดิวตี้ฟรีในฮ่องกงด้วยสัดส่วน 60% ภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

เจ้าสัววิชัยในขณะนั้นได้เกิดความคิดว่า ดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส และน่าจะนำมาลงทุนในประเทศไทยได้ดี เจ้าสัววิชัยจึงได้หารือเรื่องนี้กับสนามบินดอนเมือง แต่สุดท้ายเขาก็ต้องอกหัก ได้เป็นแค่คนถ่ายทอดเทคนิค ผู้ลงทุนจริงกลายเป็นนักธุรกิจกลุ่มอื่น แต่เจ้าสัววิชัยก็ไม่ยอมแพ้

ถนนเพลินจิต จุดเริ่มต้นอาณาจักรเจ้าสัววิชัย

สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองแห่งแรกของประเทศไทย ในลักษณะของการให้สัมปทานเอกชนเพียงรายเดียว หลังจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินดอนเมืองแบบสัมปทานผูกขาดเช่นเดียวกัน

เป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการให้มีดิวตี้ฟรีเกิดขึ้นเกิดอีกแห่งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

S 70098950
ขอบคุณภาพจากคิง เพาเวอร์

เจ้าสัววิชัย คว้าสัมปทานฉบับนี้มาครอบครองได้สำเร็จในปี 2532 โดยพลเอกชาติชายได้เป็นประธานในพิธีเปิดร้านค้าดิวตี้ฟรี ที่ตั้งอยู่บนอาคารมหาทุนพลาซ่า ถนนเพลินจิต ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดฉากอาณาจักรดิวตี้ฟรีของเจ้าสัววิชัยอย่างเป็นทางการ

ขยายปีกสู่ต่างประเทศ

หลังจากเริ่มลงหลักปักฐานในประเทศไทยแล้ว เจ้าสัววิชัยได้ขยายอาณาจักรดิวตี้ฟรีของเขาออกสู่ต่างประเทศ โดยในปี 2534 เจ้าสัววิชัยคว้าสัมปทานดิวตี้ฟรี ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา

ต่อมาได้ทำธุรกิจขายสินค้าทั่วไป และของที่ระลึกในสนามบินดอนเมือง ตามด้วยการลงทุนร้านค้าจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ณ กำแพงเมืองจีน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และธุรกิจดิวตี้ฟรีที่สนามบินไคตั๊ก บนเกาะฮ่องกง

จนกระทั่งปี 2540 เจ้าสัววิชัยคว้าสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมืองได้สำเร็จ โดยพ่วงมากับสนามบินเชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต นอกจากนี้ยังได้รับใบอนุญาตให้ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรีบนสายการบินไทย

นับได้ว่าดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่เจ้าสัววิชัยชำนาญที่สุด โดยเขามีหลักการลงทุนในต่างประเทศว่า เขาจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อให้มีอำนาจบริหารเต็มมือ แต่ไม่จำเป็นต้องส่งคนไทยไปนั่งบริหารกิจการในต่างประเทศ

การทำธุรกิจในต่างประเทศ ยังส่งผลให้เขาต้องมี Connection เพื่อดีลงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน และลูกค้า โดยเฉพาะกับซัพพลายเออร์สินค้าแบรนด์เนม และบริษัททัวร์ ซึ่งหัวใจของความสำเร็จคือ “ความจริงใจ ไม่เอาเปรียบหรือกดดันราคากัน เขาจะใช้วิธีช่วยให้ซัพพลายเออร์ช่วยวางแผนการผลิต เพื่อทำให้ซัพพลายเออร์พอใจ”

แต่ปี 2540 เจ้าสัววิชัยก็ถูกพิษจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ไม่ต่างจากนักธุรกิจไทยรายอื่น เพราะเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีมีต้นทุนสูงขึ้น แม้ธุรกิจในประเทศไทยจะซวนเซ แต่เจ้าสัววิชัยก็ยังไม่ล้ม เพราะมีธุรกิจในต่างประเทศช่วยชดเชยรายได้และพยุงเขาไว้

King Power 8

ปี 2549 คิง เพาเวอร์ ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่

ปี 2549 นับเป็นปีทองของเจ้าสัววิชัย เพราะคิง เพาเวอร์ ได้ลงทุนธุรกิจดิวตี้ฟรีใน 2 พื้นที่ ซึ่งกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของบริษัทมาถึงทุกวันนี้ ได้แก่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ในซอยรางน้ำ สัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่

นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เห็นชอบให้ขยายอายุสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ 2 ครั้ง ส่งผลให้อายุสัมปทานของคิง เพาเวอร์ เพิ่มขึ้นจาก 10 ปี เป็น 14 ปี

แต่การขยายความยิ่งใหญ่ของคิง เพาเวอร์ ก็ตามมาด้วยข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสและการใช้ Connection เพื่อเอื้อประโยชน์ ซึ่งเจ้าสัววิชัยก็ออกมาปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ โดยบอกว่าเขาเป็นเพียงนักธุรกิจคนหนึ่งเท่านั้น

ผมไม่ Happy กับคำที่เขาเรียกผมว่าเจ้าพ่อ มันหมายถึงผู้มีอิทธิพล สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ ซึ่งผมไม่ใช่

“ผมไม่ Happy กับคำที่เขาเรียกผมว่าเจ้าพ่อ มันหมายถึงผู้มีอิทธิพล สั่งซ้ายหันขวาหันได้ ซึ่งผมไม่ใช่ ถ้าบอกว่าเป็นเจ้ายุทธจักรในธุรกิจคิงเพาเวอร์ ผมยอมรับ”นายวิชัย ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในปี 2549  ซึ่งเป็นปีที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ และคิง เพาเวอร์ ก็ถูกโจมตีอย่างหนัก

หลังจากลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงแล้ว คิง เพาเวอร์ ก็ขยายอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์พัทยา การขายสินค้าดิวตี้ฟรีบนของสายการบินแอร์เอเชีย และแอร์เอเชียเอ็กซ์ ทั้งยังได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีที่ดอนเมือง หลังจากสนามบินดอนเมืองกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง คิง เพาเวอร์ ศรีวารีคอมเพล็กซ์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยอาณาจักรคิงเพาเวอร์สร้างรายได้หลักแสนล้านบาทต่อปี

S 32374886

นับถอยหลังก่อนการแข่งขันครั้งสำคัญ

ธุรกิจดิวตี้ฟรีที่หอมหวน กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มคิง เพาเวอร์ กำลังจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2563 ทอท. จึงจะนำธุรกิจดังกล่าวมาเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง โดยสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะ ทอท. กำลังนับถอยหลัง เข้าสู่การเปิดประมูล ซึ่งแน่นอนว่า คิง เพาเวอร์ ภายใต้การนำของเจ้าสัววิชัย ถูกจับจ้องในฐานะตัวเก็งในการแข่งขัน

แต่ก่อนการแข่งขันนัดสำคัญจะเริ่มขึ้น ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อเจ้าสัววิชัย ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตก ขณะกำลังเดินทางออกจากสนามฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ในเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ในประเทศอังกฤษ กลายเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น 

Avatar photo