Technology

‘กัมพูชา’ ตั้ง ‘อินเทอร์เน็ต เกตเวย์’ คุม ‘ข้อมูลออนไลน์’ กูรูหวั่น คุกคาม ‘เสรีภาพ’

 

“กัมพูชา” ออกกฎหมายใหม่ ตั้ง “อินเทอร์เน็ต เกตเวย์” แบบจีน ที่จะเปิดทางให้รัฐสามารถควบคุม และตรวจสอบ “แทรฟฟิค ออนไลน์”ได้ การเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดความกังวลว่า เสรีภาพประชาธิปไตยในประเทศ อาจตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลกัมพูชาออกพระราชกฤษฎีกาย่อย ที่ลงนามโดยนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลกัมพูชา ระบุว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้  มีเป้าหมายเพื่อ อำนวยความสะดวก และบริหารจัดการ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยด้านการจัดเก็บรายได้ ป้องกันความมั่นคงของประเทศ รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม วัฒนธรรม และประเพณี

shutterstock 1584027601

กฎหมายย่อยฉบับนี้สั่งการให้ผู้ดำเนินการเกตเวย์ ทำงานร่วมกับทางการกัมพูชา เพื่อดำเนินการปิดกั้น และตัดการเชื่อมต่อเครือข่ายใด ๆ ที่เห็นว่า ขัดต่อเป้าหมายเหล่านี้ หรือละเมิด “ศีลธรรม, วัฒนธรรม, ประเพณี และขนบธรรมเนียม” ผู้ดำเนินการเกตเวย์จะต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ

ช่วงหลายปีนี้กัมพูชามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก สถิติของรัฐบาลเผยว่า จากที่เคยมีผู้ใช้งาน 5 ล้านรายในปี 2557 เพิ่มเป็น 20.3 ล้านรายในปีที่แล้ว เฟซบุ๊กเป็นแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด เกือบ 11 ล้านราย ในกัมพูชา

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้เกิดความวิตกว่า รัฐบาลกัมพูชา ซึ่งดำเนินการปราบปรามผู้แสดงความเห็นผ่านทางออนไลน์มากขึ้นนั้น จะใช้ระบบนี้ สอดแนม และปิดกั้นประชาชน ไม่ให้เข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านประตูทางผ่านทางเดียว ในแบบเดียวกับระบบ “เกรตไฟร์วอลล์” ของรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ดี นายพาย สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ปฏิเสธข้อกังวลนี้ โดยอ้างว่า กฎหมายใหม่ จะป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ แต่ก็ระบุว่า เจ้าหน้าที่ “จะทำลายผู้ใช้งาน (อินเทอร์เน็ต) ที่ต้องการก่อกบฏ” ต่อต้านรัฐบาล

ทางด้านนางจัก สุภาพ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา กล่าวว่า อินเทอร์เน็ต เกตเวย์นี้ จะทำให้การสอดแนมมวลชนทำได้ง่ายขึ้น ผ่านการสกัดกั้นและเซ็นเซอร์การสื่อสารดิจิทัล และการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล

“การจัดตั้งอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง สำหรับอนาคตของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกัมพูชา่ เพราะจะกลายเป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งสำหรับรัฐบาลกัมพูชา ในการควบคุม และ เฝ้าตรวจสอบการไหลเวียนของข้อมูลในประเทศ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo