Digital Economy

กสทช.ชี้ต้องเร่งทำให้เกิด ‘5จี’ เพิ่มทราฟฟิก-เก็บรายได้ ‘OTT’ เข้ารัฐ

กสทช.เสนอแนวทางจัดเก็บรายได้ OTT โดยคำนวณจากการปริมาณทราฟฟิกที่ใช้งาน เนื่องจากเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ

5G 3

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “5จี ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน”  โดยระบุว่า หากดูจากการลงทุนของต่างประเทศ ที่มาลงทุนในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553 จะพบว่า ไทยมีตัวเลขการเข้าลงทุนต่ำกว่าประเทศอื่นมาก แม้จะเริ่มมีเม็ดเงินลงทุนที่สูงขึ้นระหว่างปี 2559 – 2561 แต่เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับประเทศอื่น ยังพบว่ามีอัตราส่วนที่น้อยกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และเวียดนาม

ดังนั้น หากไทยไม่ทำให้ 5จี เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มมากขึ้นโดยเร็ว ก็จะส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และจะทำให้เป็นรองเวียดนาม และอินโดนีเซียต่อไป

การเกิดขึ้นของ 5จี จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศราว 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น ภาคเกษตรกรรมเกือบ 100,000 ล้านบาท จากการเกิด “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” ภาคการขนส่งประมาณ 120,000 ล้านบาท ภาคการผลิตซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600,000 ล้านบาท

ที่สำคัญอีกภาคหนึ่งคือสาธารณสุข จะสามารถลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนเรื่องค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 38,000 ล้านบาทต่อปี

นายฐากร บอกด้วยว่า ในปี 2565 สังคมไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนราว 14% ของประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งหากไทยยังรักษาในระบบเดิม ไม่มี “โรงพยาบาลอัจฉริยะ” หรือสมาร์ท ฮอสปิทัล   ก็จะทำให้การรักษายังเป็นระบบเดิม ที่ประชาชนต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อหาหมอรักษาอาการเจ็บป่วย

แต่ถ้ามีระบบ 5จี ขึ้นมา ผู้ป่วย 4 โรค คือ  โรคตา ความดัน ผิวหนัง และเบาหวาน ก็สามารถรับการตรวจ และคำแนะนำในการรักษาผ่านระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ  ที่ใช้เทคโนโลยี 5G ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาล ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องทำให้ 5จี เกิดขึ้นในไทย  เพราะนอกจากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศยแล้ว ยังรองรับสังคมผู้สูงอายุ และลดต้นทุนด้านสาธารณสุขของประเทศด้วย

5G 2

นอกจากนั้น เมื่อเกิดระบบ 5จี ขึ้นมา ก็คาดว่าจะมีปริมาณการใช้งานข้อมูล หรือดาต้าเพิ่มมากขึ้นราว 40 เท่าของการใช้งานในระบบ 3จี และ 4จี ที่มีการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านเทราไบต์ต่อปี ซึ่งถ้ารัฐสามารถหาทางจัดเก็บรายงานได้จากการใช้งานเหล่านี้ได้

“ผมจึงเสนอหลักการว่า หากรัฐจะจัดเก็บเงินรายได้จากการใช้งานปริมาณทราฟฟิกที่นำเข้ามาใช้งาน เพราะถือว่าเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศซึ่งต้องมีการพัฒนาและบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา หลักการดังกล่าวคือ กสทช. จะให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ระหว่างประเทศ จัดทำรายละเอียดของการใช้งานทราฟฟิกที่นำเข้าจากต่างประเทศว่ามีปริมาณหรือจำนวนเท่าใด”

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะยกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการใช้งานทราฟฟิกที่นำมาใช้งานในประเทศ ในระดับใดหรือจำนวนเท่าใดที่จะใช้งานได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ขนาดหรือจำนวนเท่าใดถึงจะกำหนดว่าเป็นประเภทธุรกิจ ซึ่งในกรณีที่เป็นธุรกิจที่จะต้องกำหนดต่อไปว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

กสทช. จะกำหนดให้ผู้ที่นำเข้าทราฟฟิกในปริมาณมากจะต้องมาจ่ายค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน แต่ในทางตรงกันข้ามจะส่งผลดีต่อรายได้ของประเทศในภาพรวมต่อไป

Avatar photo