Business

จับตามาตรการ ‘โกดังเก็บหนี้’ ต่อลมหายใจธุรกิจโรงแรม ฝ่าโควิด

โกดังเก็บหนี้ มาตรการใหม่จากภาครัฐ หวังช่วยฟื้นธุรกิจโรงแรม เปิดทางเลือกขายกิจการ ให้โอกาสซื้อคืน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ยังไม่ชัดเจนหลายประเด็น

ธุรกิจโรงแรมและที่พัก เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ ของภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่อง ได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมมาต่อเนื่อง โดยมาตรการล่าสุดคือ Asset Warehouse หรือ โกดังเก็บหนี้

โกดังเก็บหนี้

ทั้งนี้ Asset Warehouse หรือ โกดังเก็บหนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดทางเลือก ให้กับเจ้าของโรงแรม ในการขายกิจการเพื่อ Freeze ส่วนสูญเสีย และมีโอกาสซื้อกิจการคืนในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สู่ระดับปกติอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ธุรกิจโรงแรม จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวสะดุดลง

นอกจากนี้ แผนการดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวของทางการ อย่างแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ต้องชะลอออกไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 นี้ ยังไม่น่าจะกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.0-4.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 จะมีจำนวน 4.5-7.0 ล้านคน]

ในส่วนของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ ปี 2564 นี้ น่าจะอยู่ที่ 90-120 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถทดแทนการหายไป ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีส่วนสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงแรมและที่พักกว่า 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของรายได้ท่องเที่ยวโรงแรมและที่พักทั้งหมด

ทั้งนี้ โรงแรมที่จะประสบปัญหาหนัก คือ กลุ่มที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นต้น รวมถึงในพื้นที่อื่นๆ อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี และเชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบหนัก และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ประมาณการณ์ว่า จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 4,000 ราย ซึ่งกลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด จะเป็น กลุ่มที่พักประหยัด (Budget Hotels) ซึ่งจะมีข้อจำกัดในด้านการแข่งขัน และการสร้างรายได้ โดยรายได้หลัก มาจากการเข้าพัก ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ธุรกิจโรงแรมผลกระทบโควิด

ที่ผ่านมา ภาครัฐ มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมในหลายส่วน ได้แก่

  • มาตรการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ คือ โครงการ Soft Loans ซึ่งได้มีการปรับเงื่อนไขระยะเวลาการขอรับสินเชื่อจนถึงกลางปี 2564, การขยายวงเงินขอสินเชื่อ ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ตลอดจนมาตรการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้  ไปถึงปี 2564 ที่ครอบคลุมผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและเล็ก จนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่
  • มาตรการการแบ่งเบาภาระรายจ่ายผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม คือ มาตรการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมปีละ 40 บาทต่อห้องพักตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
  • มาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนค่าโดยสารเครื่องบินส่วนหนึ่ง เป็นต้น

ในส่วนของ มาตรการ Asset Warehousing นัั้น แม้ว่ารายละเอียดเบื้องต้น อาจออกมาในรูปการขาย หรือขายฝากสินเชื่อธุรกิจโรงแรม ให้กับสถาบันการเงิน ในราคา และเงื่อนไขที่ตกลงกัน มากกว่าการจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อรับโอนหนี้จากธนาคารพาณิชย์

แต่วัตถุประสงค์หลัก คงไม่ต่างกัน นั่นคือ การขายโรงแรม / โอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในโรงแรมดังกล่าว ให้สถาบันการเงิน เพื่อลดภาระการจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ย ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยทำให้มีสภาพคล่องทางอ้อมเพิ่มขึ้น ลดภาระจากการแบกต้นทุนรายจ่ายของโรงแรมในแต่ละเดือน ในจังหวะที่สถานการณ์ผู้เข้าพักลดลง

พร้อมกันนี้ ยังเปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการ สามารถซื้อโรงแรมคืนได้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้น จนเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงสิทธิในการให้ผู้ประกอบการรายเดิม เช่าเพื่อดำเนินธุรกิจ และดูแลโรงแรมให้ยังคงอยู่ในสภาพดี

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ยังมีหลายเรื่องที่ต้องรอความชัดเจน ได้แก่

  • ผู้ประกอบการกลุ่มใดสนใจจะเข้าโครงการ Asset Warehousing

หากเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ศักยภาพ และยังมีสายป่านทางการเงินที่ดี โดยอาจมาจากธุรกิจประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากโรงแรมและที่พักนั้น อาจเลือกคงสภาพความเป็นเจ้าของในธุรกิจ และขอรับการปรับโครงสร้างหนี้ จากสถาบันการเงินมากกว่า

  • ฝั่งสถาบันการเงิน คงประเมินลูกค้าที่เข้าโครงการจากความสามารถ และศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งแปรผันตามขนาดกิจการ พื้นที่ให้บริการ รวมถึงแนวทางการทำธุรกิจเฉพาะสำหรับโรงแรมแต่ละแห่ง เพื่อบ่งชี้ถึงโอกาสการกลับมาสร้างรายได้ในอนาคตของกิจการ
  • ราคาขายหรือราคาโอนกรรมสิทธิ์ ว่าจะเป็นไปตามวงเงินสินเชื่อที่มีกับธนาคารพาณิชย์หรือไม่ และกิจการมีหลักประกันส่วนเกิน หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
  • ราคาซื้อคืน-ค่าประกันภัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจต่อ
  • การยกเว้น หรือผ่อนปรนภาระภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง จากการโอนหนี้ ที่จะเกิดขึ้นทั้งขาแรก และขาหลัง ที่ผู้ประกอบการซื้อคืนโรงแรม
  • ระยะเวลาโครงการนานเพียงพอ ที่จะรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหรือไม่ ซึ่งอย่างน้อยควรนานกว่า 3-5 ปี
  • มีการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ และตั้งสำรองหนี้ ทรัพยสินรอการขาย สำหรับสถาบันการเงินหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เนื่องจากจะมีผลโดยตรง ต่อต้นทุนโดยรวม และความสามารถของสถาบันการเงินในการรับซื้อโรงแรม และปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติม ให้กับผู้ประกอบการ
Hotel 900x450 1
A hotel sign reflected in the glass of the building

ส่วนประเด็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ สำหรับการดูแลรักษาสภาพโรงแรมให้พร้อมใช้งานนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ และกลไกการ ลด ชดเชยความเสี่ยงเครดิต ของผู้ประกอบการร่วมด้วย เช่น กลไก บสย. การปรับปรุงมาตรการ Soft Loans ของ ธปท.  หรือการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น

บทสรุปของเงื่อนไขต่าง ๆ ข้างต้น จะเป็นตัวกำหนดการตอบสนอง ของผู้ประกอบการ ว่าจะเลือกเข้ามาตรการ Asset Warehousing เพื่อคงโอกาสในการทำธุรกิจโรงแรมของตนหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับไพ่อื่นๆ ที่มีอยู่ในมือปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ควรกำหนดการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงิน ในการดูแลลูกค้า ภายใต้มาตรการดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบัน ภาครัฐและสถาบันการเงิน อยู่ระหว่างการหาข้อสรุป ของรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการมีประสิทธิผลสูงสุด

อย่างไรก็ดี มาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ธุรกิจจดทะเบียน แต่ในทางปฏิบัติ ธุรกิจโรงแรม มีกลุ่มที่ไม่จดทะเบียนอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องอาศัยมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ มาตรการสำหรับลูกหนี้รายย่อย และมาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเสริมเข้าไปแทน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo