Business

ครม. ไฟเขียวยืด 3 โครงการสินเชื่อช่วย ‘รายย่อย-ผู้ประกอบการ’ สู้โควิด-19

ครม. ไฟเขียวยืด 3 โครงการ สินเชื่อ ช่วย “รายย่อย-ผู้ประกอบการ” สู้วิกฤติ โควิด-19 ไปถึงเดือน มิ.ย. 64 จากเดิมสิ้นสุดปี 63

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาไวรัสโควิด-19 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12 ม.ค. 64) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาคำขอ สินเชื่อ 3 โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่งที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ประชาชนและผู้ประกอบการในสถานการณ์ โควิด-19 ได้แก่

สินเชื่อ โควิด-19

1.โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ของธนาคารออมสิน ซึ่งมีวงเงินคงเหลืออยู่ 7,500 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาการรับคำขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ก็ให้ขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

สำหรับสินเชื่อเสริมพลังฐานรากเป็นการสนับสนุนเชื่อให้ประชาชนที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยธรรมชาติ หรือภัยเศรษฐกิจ

วงเงินการปล่อย สินเชื่อ อยู่ที่ 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 3 ปี

2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลืออยู่ที่ 11,400 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาการรับคำขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ก็ให้ขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฯ จะสนับสนุนสินเชื่อแก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ หรือเกษตรกรรายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.1% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน

3.โครงการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา แต่ ครม. ให้ขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

สำหรับ สินเชื่อ เพื่อการลงทุนฯ จะสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เพื่อการนำเข้าและพัฒนาธุรกิจของตัวเอง

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปีที่ 1 และ 2 จะอยู่ที่ 2% ต่อมาอัตรา Prime Rate ในปีที่ 3-5 อยู่ที่ -2.00% และอัตรา Prime Rate ในปีที่ 6 และ 7 อยู่ที่ 6%

อาคม1 e1605776590751
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 กระทรวงการคลังก็ได้ขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ในทันที

ด้านการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ก็มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของ ธปท. ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้ประสานงานและหารือกับ ธปท. เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้วงเงินกู้นี้ได้

ธนาคารออมสินก็จัดโครงการมีที่มีเงิน ผู้ประกอบการที่มีปัญหาสภาพคล่องในการจ่ายเงินพนักงานลูกจ้าง แต่อาจจะมีที่ดิน ก็สามารถนำที่ดินมาแลกเป็นเงิน สินเชื่อ ได้ โดยธนาคารออมสินจะทำการประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในระยะสั้น เพื่อรักษาการจ้างงานและรักษาธุรกิจของตัวเองไว้

ด้านมาตรการพักชำระหนี้มีอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ พักชำระเงินต้น หรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย, ลดอัตราดอกเบี้ย, ยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป และปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินทั้ง 7 แห่งก็ยังดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่ให้ความช่วยเหลือนั้น นอกจากภาคธุรกิจท่องเที่ยว ก็ยังจะให้ความช่วยเหลือพื้นที่ 5 จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่งไปดูเป็นพิเศษ

ขอสรุปเรื่องมาตรการเสริมสภาพคล่อง วงเงินที่เรามีอยู่ในตอนนี้ เฉพาะของสถาบันการเงินของรัฐยังมีวงเงินเหลืออยู่ที่ 2.68 แสนล้านบาท ส่วนเรื่อง soft loan ของ ธปท. มีวงเงินคงเหลืออยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นวงเงินสภาพคล่องที่เหลือให้บริการได้อยู่ที่ 6.38 แสนล้านบาท ขอให้ประชาชนและธุรกิจติดต่อกับธนาคารของรัฐได้ทุกแห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo