Economics

หวั่นล็อกดาวน์! ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯ ร่วงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ผวาโควิด!! ดัชนีเชื่อมั่นเดือน ธ.ค. ปรับลดลงแตะ 50.1 ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ชี้หากล็อกดาวน์ทั้งประเทศ กระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 6 แสนล้านบาท กรณีแย่สุดคาดจีดีพีติดลบ 0.3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธันวาคม 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 50.1 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 52.4 และถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน กันยายน 2563

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร โดยเฉพาะกรณีตลาดกุ้ง รวมถึงการแพร่ระบาดในหลายจังหวัด จนส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 500 คนต่อวัน ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก และมีความกังวลสูง

ธนวรรธ44 1
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือน ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 43.5 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 45.6 โดยลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากผู้บริโภค มีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย จากสถานการณ์โควิด ที่ยังระบาดรอบใหม่ในไทยและทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายอย่างมากถึงไตรมาส 1/2564 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด ในไทยจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด ในไทยว่า จะคลี่คลายได้เร็วแค่ไหน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบโควิด ในรอบใหม่ของรัฐบาล ในช่วงไตรมาส 1-2 ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยไดมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยว่า จะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้น หลังจากรัฐบาลได้ประกาศการควบคุมการระบาดแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง 38 จังหวัด จากการประเมินหากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ (Hard Lockdown) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 600,000 ล้านบาท และกระทบต่อจีดีพี -3.75% ในระยะเวลา 3 เดือน

ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้คาดจะอยู่ในช่วง 0.9-2.8% ส่วนกรณีแย่ที่สุด คาดว่า จะติดลบ 0.3% ดังนั้น จึงมองว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดเงินเยียวยาเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากมาตรการคนละครึ่ง

“ประเมินว่า สถานการณ์ไม่ควรยืดเยื้อนานเกิน 3 เดือน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงจะลดลง หากรัฐบาลเร่งพยุงเศรษฐกิจ เช่น ใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. เสนอ รวมถึงเพิ่มยอดวงเงินคนละครึ่งจาก 3,500 บาทต่อคน เป็น 5,000 บาทต่อคน หรือเพิ่มจำนวนคนเข้าร่วมโครงการจาก 15 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หวังว่า ภาครัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 3 เดือน โดย ม.หอการค้าไทย ยังไม่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจจากเดิมที่ 2.8% แต่เป็นการประเมินเศรษฐกิจตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อ และมาตรการล็อกดาวน์ จึงทำให้ตอนนี้ตัวเลขที่มีความเป็นไปได้คือ 2.2% ส่วนโอกาสที่จะขยายตัว 2.8% ตามประมาณการเดิมมีน้อยลง

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 บานปลาย เม็ดเงินกู้ที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท และงบประมาณขาดดุลอีก 600,000 ล้านบาท ที่เป็นงบที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนน่าจะเพียงพอ และยังไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์รุนแรงยืดเยื้อบานปลายถึงไตรมาส 2 มีความจำเป็นต้องกู้เพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลมีศักยภาพในการกู้อีกได้อีกเป็นอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท เพราะหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 50% ของจีดีพี และมีพื้นที่อีก 10% ต่อจีดีพีที่จะกู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งจีดีพีไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท ดังนั้น น่าจะกู้ได้อีก 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ไม่คลี่คลายและจำเป็นจะต้องกู้ยืมก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ ณ ปัจจุบัน ยังเร็วไปที่จะประเมิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo