Politics

เปิดใจ ‘หมอพลเดช’ ร่วมพรรคพลังประชารัฐบน 3 เงื่อนไข

S 31162405
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

มีหลายพรรคอยากให้ไปร่วม ผมมีเพื่อนเยอะทุกพรรค ทุกสี แต่ผมไม่ต้องการทำการเมืองแบบโจมตีกัน หรือแบบสุดโต่ง

วันที่ 15 ตุลาคมนี้ “พรรคพลังประชารัฐ” เปิดตัวผู้ร่วมอุดมการณ์ใหม่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ไปพร้อมกับการจัดงานรวมพลพรรคเครือข่ายระดับชุมชน ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม

ร่วมพรรคพลังประชารัฐบน 3 เงื่อนไข

นพ.พลเดช เปิดใจถึงการตัดสินใจร่วมกับพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ว่า เป็นการตัดสินใจในฐานะผู้ร่วมจดทะเบียนก่อตั้งพรรค ภายใต้ 3 เงื่อนไข นั่นคือ 1. ไม่รับเป็นผู้บริหารพรรค 2.ไม่เป็นกรรมการพรรค และ 3.ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ

“มีหลายพรรคอยากให้ไปร่วม ผมมีเพื่อนเยอะทุกพรรค ทุกสี แต่ผมไม่ต้องการทำการเมืองแบบโจมตีกัน หรือแบบสุดโต่ง ผมต้องการให้การเมืองไทย เป็นแบบสร้างสรรค์ ทำงานแบบเชื่อมประสาน ปรองดอง  มีความรักความสามัคคีต่อกัน”

ดังนั้นเมื่อพรรคพลังประชารัฐมีวิธีคิด และแนวทางเดียวกับตนเอง ขณะเดียวกันพรรคก็เปิดตัวที่จะนำประชาสังคมเข้ามาเป็นนโยบายของพรรค จึงตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคนี้ ซึ่งหลายคนทำงานด้วยกันตั้งแต่วางแนวทางปฏิรูประเทศ เพียงแต่ไม่ต้องการเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับใคร ไม่อยากเสียเพื่อน และมีข้อจำกัดของตนเอง จึงวางเงื่อนไขไว้ 3 ข้อข้างต้น

ทำหน้าที่เลขาธิการสช.ต่อ

ส่วนการทำหน้าที่เลขาธิการสช.ก็จะทำต่อไป เพราะถือว่าการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไม่ได้ทำให้คุณสมบัติการเป็นเลขาธิการเสียไป เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ที่สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ให้ประชาชนทุกคนทุกสาขาอาชีพส่งเสริมการเมืองแบบสร้างสรรค์ จึงเปิดทางให้ทุกคนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ถือเป็นหน้าที่พลเมือง ตนก็เช่นเดียวกัน

เขาจึงวางเส้นทางของตนเองที่จะทำงานในฐานะเลขาธิการสช.ต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ต้องตัดสินใจ  เขาประเมินว่าเป็นเรื่องระยะยาวเกินกว่าจะคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

“ผมมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีตอนนี้ทำงานมา 2 ปีเศษแล้ว ตั้งใจจะทำงานให้ครบวาระมาตั้งแต่ต้น ก็จะอยู่ทำงานต่อไปจนถึงจุดที่ต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่งหลังมีการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งใช้เวลาอีกหลายเดือน”

นพ.พลเดช ระบุว่าพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าเปิดตัวนำมาก่อนในการมุ่งเน้นนโยบายด้านประชาสังคม  ต้องการดึงตนมาช่วยงานด้านนี้ ยินดีที่จะมาร่วม เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์ที่ทำงานด้านประชาสังคมมาตลอดจนถึงล่าสุดในสช.

โดยยืนยันว่าสช.เป็นองค์กรที่มีบทบาท และภารกิจเช่นเดิม ส่วนการตัดสินใจของตนเองเป็นเรื่องส่วนตัว ขอให้ประชาชนตรวจสอบตนเองว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ อำนาจงบประมาณของรัฐไปเอื้อประโยชน์พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือทำอะไรที่ผิดวินัย และจริยธรรมหรือไม่

S 31162404

ชวนพรรคการเมืองดึง77มติพัฒนานโยบาย

อย่างไรก็ตาม สช.เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ “สังคมสุขภาวะ” และทำหน้าที่อย่างดีมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2550 ตลอด 10 ปีมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออกมาแล้วถึง 77 มติภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

แต่ละมติเริ่มต้นจากปัญหาของประชาชน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง คิดขึ้นจากฐานล่างขึ้นไปสู่การกำหนดนโยบาย (Bottom-up) ทั้ง 77 มติจึงเป็นโยบายสาธารณะของประชาชนโดยประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งผิดไปจากนโยบายสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่คิดจากข้างบนลงล่าง  (Top-down)

ปี 2561 ก็เป็นอีกปีที่กำลังมีการพัฒนานโยบายสาธารณะเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่่งมีนโยบายเข้ามาถึง 65 เรื่อง แต่กลั่นกรองเหลือเพียง 4 เรื่องที่พร้อมเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนร่วมกัน

วาระสมัชชาสุขภาพฯ 4 เรื่อง

  1. ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคใหม่ไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs)
  2. ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก (E-Sport : Social Responsibility for Child  Health)
  3. การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง เพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. การพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคทางทันตกรรม

ดังนั้นหากพรรคการเมืองใดเข้าใจอย่างลึกซึ่งถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ จะรู้ว่าทั้ง 77 มติสามารถหยิบไปใช้พัฒนาเป็นนโยบายพรรคได้เลย เพราะผ่านการมีส่วนร่วมคิดมาจากทุกภาคส่วน ขอให้ดูตัวอย่างพรรคเพื่อไทยในอดีตที่หยิบเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคไปใช้เป็นนโยบายใหญ่โดนใจประชาชน จนประสบผลสำเร็จในขณะนั้น

77 มติเป็นสมบัติกลาง ที่พรรคจะหยิบไปใช้ได้ ประชาชนเองก็ยินดีที่พรรคจะหยิบประเด็นเหล่านี้ไปใช้เป็นนโยบายพรรค เพื่อทำให้ปัญหาต่างๆของประชาชนได้รับการแก้ไข”

เขา ย้ำถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ว่า ทุกคนมีส่วนทำให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็ง ทำให้พรรคการเมืองมีคุณธรรม และจริยธรรม รักสามัคคี ไม่ทุจริต ซึ่งสช.เองมีหน้าที่ทำให้ทุกพรรคการเมืองเข้มแข็งเช่นเดียวกัน เพราะประเทศก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย   ดังนั้นหากพรรคใดต้องการหยิบมติของสมัชชาสุขภาพฯไปเป็นนโยบาย ทางทีมสช.พร้อมให้คำปรึกษากับทุกๆพรรคการเมือง

“การเมืองเป็นเรื่องอำนาจเพื่อสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพียงแต่ แต่ละพรรคมีอุดมการณ์แตกต่างกันไป บางพรรคเน้นอนุรักษ์นิยมก็มีความเชื่ออีกแบบต่างกับพรรคที่เน้นเสรีนิยม เป็นต้น แต่ทั้งหมดคือตัวเลือกให้ประชาชน ท้ายที่สุดประชาชนจะเลือกพรรคที่มีคุณธรรม และเลือกตามความนิยมของตนเอง”  

 

Avatar photo