Politics

‘อนุทิน’ จ่อตั้งรพ.สนามกลางตลาดกุ้งสมุทรสาคร ยันคุมโควิดได้!

รมว.สาธารณสุข เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม บริเวณตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ยัน “กระทรวงสาธารณสุข” มีเวชภัณฑ์เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วย ลั่นควบคุมสถานการณ์ได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เผยภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครและมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการไปแล้ว โดยการตรวจหาผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีอัตราการติดเชื้อ 42% ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และอยู่ระหว่างการกักตัว ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีการรายงาน สถานการณ์ประจำวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่การระบาดในวงกว้าง เพราะสามารถสอบสวนโรคหาที่มาของแหล่งการแพร่ระบาดได้ จึงไม่จำเป็นต้องล็อคดาวน์ทุกจังหวัด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธาณสุข เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบริเวณตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร เพื่อให้การรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น จำนวน 100 เตียง แต่หากผู้ใดมีอาการรุนแรง ก็จะทำการนำส่งโรงพยาบาลตามหลักความปลอดภัย พร้อมย้ำให้ทุกพื้นที่มีการตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยมีการวัดไข้ สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือ และฝากถึงผู้ประกอบการ อาทิ ไซต์งานก่อสร้างให้ช่วยกันดูแลลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวด้วย

รมว.สาธารณสุข

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน จัดหาเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ ทำการตรวจคัดกรองโรคให้ได้มากที่สุด และปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์

ขณะนี้ได้มีการตรวจคัดกรองในพื้นที่ชุมชนที่มีการระบาดมาก และจะทำการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมในชุมชนใกล้เคียงกับจังหวัดสมุทรสาคร โดยส่วนใหญ่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 บริเวณตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร จึงจำเป็นต้องป้องกันการเดินทางเข้า-ออกจังหวัดของแรงงานต่างด้าว ตามหลักการควบคุมโรค ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สามารถออกมาตรการเพื่อกำกับดูแลในพื้นที่ได้ทันทีไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) จะมีการหารือถึง พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อฉบับแก้ไข ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้สามารถใช้ พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อที่มีความเข้มข้นมากขึ้นแทน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง

ส่วนการจัดงานเทศกาลปีใหม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องประเมินสถานการณ์ประจำวัน ในส่วนของงานแต่งงาน งานบวช หากไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการสั่งห้ามก็สามารถจัดได้ แต่ต้องยกระดับมาตรการป้องกัน

“ไม่ได้ห้ามการเดินทางของประชาชน แต่ขอความร่วมมือให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอ เว้นระยะห่าง ระมัดระวังในการสัมผัส และหากพบว่าตนเองมีอาการป่วย ให้รีบเข้ารับการตรวจก่อนเดินทาง พร้อมวอนประชาชนทุกคนให้กำลังใจ สนับสนุน การทำงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมเวชภัณฑ์อย่างเพียงพอ อาทิ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ยา อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ โดยยืนยันว่าไม่ขาดแคลน และยังไม่มีการขอรับบริจาคอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรมได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ 50 ล้านแผ่นให้แก่ประชาชนด้วย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการ ตลาดสด ทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และทุกตลาดทั่วประเทศ ที่มีรวมกว่า 1,580 แห่ง ต้องคุมเข้ม และการ์ดอย่าตก ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด -19 ไม่ให้ โควิด-19 แพร่ระบาดในตลาดสด

ตลาดสด

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่มีการพบผู้ป่วยโควิด 19 ในจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มต้นที่หญิงชาวไทยวัย 67 ปี อาชีพค้าขายกุ้งและปลาอยู่ในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ จากการสอบสวนโรค มีจำนวนยอดผู้ป่วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้น จำนวนมาก

จากสถานการณ์ดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใย เนื่องจากส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ เกิดความวิตกกังวล ต่อการจับจ่ายสินค้าภายใน ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร นำมาซึ่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้า ของพ่อค้า แม่ค้า ภายในตลาดตามมาด้วย

สำหรับ มาตรการคุมเข้มตลาดสด ประกอบด้วย

  • กำหนดทางเข้า-ออก เพื่อคัดกรองคนเข้าตลาด
  • สวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้า ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
  • จัดจุดล้างมือด้วย สบู่และน้ำ หรือ เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ 70%
  • รักษาระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร รวมถึงกำหนดมาตรการ เพื่อลดความแออัด
  • ทำความสะอาดแผงและร้านค้า อุปกรณ์ของใช้ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน
  • ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
  • เมื่อกลับบ้าน ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที ไม่ควรนำ ของใช้ในตลาดกลับบ้าน
  • จัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เช่น เสียงตามสาย บอร์ดป้าย เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
  • หมั่นสังเกตอาการตนเอง และแรงงานต่างด้าวภายในตลาด ทั้งที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมีอาการไข้สูง ไอ จาม ให้งดปฏิบัติงาน และไปพบแพทย์ทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK