Politics

ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว ‘ศาลรธน.’ ตัดสิน ‘คำสั่ง คสช.’ ขัดรัฐธรรมนูญ

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557

ราชกิจจานุเบกษา1225

และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557  เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

และเฉพาะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคล มารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย

จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เชาวนะ ไตรมาศ
เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

image big 5fd0c48570e5e e1607519489826

การเผยแพร่คำตัดสินทางราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว มีขึ้นหลังเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 12/2563 กรณีศาลแขวงดุสิต ส่งคำร้องโต้แย้งของจำเลย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

ส่วนมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำความผิดมิได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo