Economics

เปิด 5 คำถามกับนักลงทุนมือใหม่ ใครคือขาใหญ่ในตลาดทองคำโลก?

ลงทุนทองคำ : “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิด 5 คำถามสำหรับนักลงทุนทองคำมือใหม่ ใครคือขาใหญ่ในตลาดทองคำโลก ปัจจัยสำคัญไหนบ้างที่ต้องติดตามใกล้ชิด ที่นี่มีคำตอบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทองคำ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยหากเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ราคาทองคำ Spot ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วถึง 21% มาอยู่ที่ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2563 ขณะที่ราคาทองคำในประเทศขยับขึ้นมา 22% มาที่ 26,250 บาทต่อบาททองคำ สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจลงทุนในทองคำ 5 คำถามที่ควรทำความเข้าใจก่อนจะตัดสินใจลงทุน ประกอบด้วย

ถาม : ทิศทางเงินดอลลาร์ มีผลกับราคาทองอย่างไร?

ตอบ : การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ มักเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาทองคำ เนื่องจากสัญญาทองคำมักทำการซื้อ-ขาย (มีการ Quote ราคา) ในรูปเงินดอลลาร์ ดังนั้น เงินดอลลาร์ ที่อ่อนค่าลงจึงจูงใจให้นักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นๆ ลงทุนในสัญญาทองคำเพิ่มขึ้น

ลงทุนทองคำ

ถาม : เหตุใดทองคำจึงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย?

ตอบ : ทองคำ มีคุณลักษณะเข้าเงื่อนไขหลายอย่างของสินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe-haven asset โดยเฉพาะ 2 ลักษณะเด่น คือ ทองคำเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถสะสมมูลค่าได้ และภายใต้สภาวะตลาดปกติ ราคาทองคำ มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยง ดังนั้นนักลงทุน จึงมักกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ด้วยการกระจายน้ำหนักลงทุนในทองคำด้วยเช่นกัน

ถาม : ทองคำปลอดภัย แต่ทำไมราคาทองคำจึงผันผวน?

ตอบ : นอกจากจะมีการใช้ทองคำ ในแวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ทองคำยังเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อกระจายการลงทุนของนักลงทุน และยังเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ ดังนั้นราคาทองคำจึงปรับตัวขึ้น – ลงตามกลไกและพลังของผู้เล่นในตลาด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล (เช่น เทศกาลตรุษจีน และเทศกาลดิวาลีของอินเดีย)

รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น ทิศทางเงินดอลลาร์ และความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หากใช้วิธีทางสถิติมาคำนวนค่าความผันผวนของทองคำ จะพบว่า ค่าความผันผวนของทองคำในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.5% สูงกว่าความผันผวนในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 11.4%

ถาม : ใครคือขาใหญ่ในตลาดทองคำโลก?

ตอบ : จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) หากไม่นับรวมการถือครองทองคำของกองทุน ETF ทั่วโลกซึ่งมีรวมกันอยู่ประมาณ 3.9 พันตันแล้ว ผู้ถือครองทองคำรายใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ ก็คือ บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่ทยอยซื้อทองคำเข้าทุนสำรอง อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ มีอยู่ 8.1 พันตัน เยอรมนี 3.4 พันตัน อิตาลี 2.5 พันตัน ฝรั่งเศส 2.4 พันตัน รัสเซีย 2.3 พันตัน และ จีน 1.9 พันตัน ขณะที่ไทยมีอยู่ที่ 154 ตัน

ดังนั้นแล้วแรงซื้อ – ขายทองคำ ของผู้เล่นเหล่านี้ ย่อมมีผลต่อราคาทองคำอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เช่น แรงขายสุทธิจากธนาคารกลางบางประเทศ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยกดดัน ให้ราคาทองคำร่วงลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงไตรมาส 3/2563 ที่ผ่านมา

ถาม : ปัจจัยสำคัญไหนบ้างที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อแนวโน้มราคาทองคำในระยะข้างหน้า?

ตอบ : ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำ ในช่วง 3 – 6 เดือนข้างหน้ามีอยู่หลายปัจจัย โดยในฝั่งปัจจัยลบหลักๆ จะเป็นเรื่องสัญญาณความสำเร็จ ของการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ขณะที่ปัจจัยบวก จะอยู่ที่แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ จากผลของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งสำหรับนัก ลงทุนทองคำ มือใหม่ควรติดตามปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานการถือครองทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกถึงเดือนธันวาคม 2563 เพื่อให้เป็นทุนสำรอง ดังนี้

  1. สหรัฐ ถือครอง 8,133.5 ตัน คิดเป็น 79.3% ของทุนสำรอง
  2. เยอรมนี ถือครอง 3,362.4 ตัน คิดเป็น 76.5% ของทุนสำรอง
  3. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ถือครอง 2,814.0 ตัน
  4. อิตาลี ถือครอง 2,451.8 ตัน คิดเปน 71.2% ของทุนสำรอง
  5. ฝรั่งเศส ถือครอง 2,436.1 ตัน คิดเป็น 66.4% ของทุนสำรอง
  6. รัสเซีย ถือครอง 2,298.5 ตัน คิดเป็น 23.8% ของทุนสำรอง
  7. จีน ถือครอง 1,948.3 ตัน คิดเป็น 3.6% ของทุนสำรอง
  8. สวิสเซอร์แลนด์ ถือครอง 1,040.0 ตัน คิดเป็น 6.2% ของทุนสำรอง
  9. ญี่ปุ่น ถือครอง 765.2 ตัน คิดเป็น 3.4% ของทุนสำรอง
  10. อินเดีย ถือครอง 670.1 ตัน คิดเป็น 7.2% ของทุนสำรอง

สำหรับ ประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือครองทองคำ 154 ตัน คิดเป็น 3.7% ของทุนสำรอง อยู่ในอันดับ 28 ของโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo