Business

สงครามราคา อสังหาฯ ดุเดือด ชี้โอกาสทองคนซื้อ แนะนักลงทุนอย่ารีบขาย

สงครามราคา อสังหาฯ ยังดุเดือด โอกาสทองของผู้ซื้อ นักลงทุน ผู้พัฒนาเร่งระบายสต็อกเดิม แนะผู้ขายอย่าเพิ่งรีบร้อน ถ้าอยากได้ผลตอบแทนดี

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “The Guru View: แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในยุคโควิด-19 ที่ยังไร้ยาต้าน” ในงาน Asia Virtual Property Expo (เอเชียเวอร์ชวลพร็อพเพอร์ตี้เอ็กซ์โป) ว่า สงครามราคา อสังหาฯ ยังคงดุเดือด โดยตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากทั้งในมุมผู้ประกอบการและผู้บริโภค

สงครามราคา อสังหาฯ

ทั้งนี้เนื่องจาก ตั้งแต่ต้นปี ที่ตลาดมีการชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจไทย ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งผลต่อการซื้อขายในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อผนวกกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ และทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างมาก ในช่วงครึ่งปีแรก แม้สถานการณ์หลังการล็อกดาวน์ จะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงต้องจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ

ขณะที่ ความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าภาครัฐจะออกมาตรการใดมาช่วยกระตุ้นการเติบโตในตลาดต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม มองว่า ตลาดอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังคงเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อ และนักลงทุนระยะยาว ที่มีความพร้อมทางการเงิน เนื่องจากผู้ขายยังคงใช้สงครามราคา มาช่วยเร่งระบายสต็อกคงค้าง ทำให้ราคาอสังหาฯ ช่วงนี้ยังไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะรูปแบบคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์

จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ล่าสุด พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 201 จุด จาก 198 จุด หรือเพิ่มขึ้น 2% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (นับจากช่วงไตรมาส 1 ปี 2562)

DDproperty PMIQ4 2020 TH Property Price Index Q42020

 

สำหรับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทาวน์เฮ้าส์ เป็นอสังหาฯ รูปแบบเดียวที่ดัชนีราคาปรับลดลง 1% จากไตรมาสก่อน แม้ราคาที่อยู่อาศัยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้ขายส่วนใหญ่แข่งขันกันด้วยราคา

ดังนั้น ผู้ที่คิดอยากขายในช่วงนี้ ควรชะลอการขายออกไป หากหวังผลตอบแทนที่ดี นอกจากนี้ราคาทาวน์เฮ้าส์มีสัญญาณลดลง และสินค้าทาวน์เฮ้าส์ที่มีอยู่ในตลาดราคาใกล้เคียงกับคอนโด ทำให้สินค้าประเภทคอนโดในทำเลเดียวกันอาจขายได้ยากขึ้น

แนวราบยังโตต่อเนื่อง คอนโดฯ ให้เช่ามาแรง

จากข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ พบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจเข้าชมประกาศ ซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นกว่า 4% แสดงถึงสัญญาณบวก ของตลาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ต่อมาตรการควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จะเห็นได้จาก ที่อยู่อาศัยแนวราบ ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคค้นหาบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับสัดส่วนอุปทานบ้านเดี่ยว  และทาวน์เฮ้าส์ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ โดยเติบโต 40% และ 41% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562

การค้นหาที่เติบโตเพิ่มขึ้นดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) หันมาให้ความสำคัญในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ที่มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป จากเทรนด์ Work from Home ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณา เลือกซื้อบ้านในช่วงนี้

นางกมลภัทร แสวงกิจ
กมลภัทร แสวงกิจ

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ในการหันมาเน้นการเปิดตัวโครงการแนวราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะระดับราคา 1-5 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้โฟกัสอยู่ที่กลุ่มตลาดกลางบน ระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป

ในขณะที่ตลาดให้เช่า ยังมีโอกาสเติบโตเช่นกัน โดยมีการค้นหาที่อยู่อาศัย ประเภทให้เช่า ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งคอนโดฯ ให้เช่ามีการเติบโตมากที่สุดถึง 9% เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ และกำลังซื้อผู้บริโภค ที่ชะลอตัว ทำให้การเช่าที่พักอาศัย กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะมีความเสี่ยงทางการเงินน้อยกว่า

อีกทั้งการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ที่เข้มงวดขึ้น ทำให้มียอดการปฏิเสธสินเชื่อ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคให้ความสนใจเลือกเช่าที่อยู่อาศัยที่มีอัตราค่าเช่า 3 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 20% ในรอบไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า แม้ผู้บริโภคจะยังไม่พร้อมซื้ออสังหาฯ เป็นของตัวเองในตอนนี้ แต่ยังคงมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะจ่ายค่าเช่าในอัตราที่สูงขึ้นในช่วง 1-2 ปี เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเลือกที่พักอาศัยในทำเลที่ต้องการ

ผู้ประกอบการอสังหาฯ จึงควรปรับตัวรับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการเจาะกลุ่มกำลังซื้อใหม่ ๆ ในประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นแทนที่กลุ่มกำลังซื้อเดิมที่อาจอิ่มตัว และได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo