Business

‘แก้ปมส่งออก’ วางยุทธศาสตร์ ดันข้าว รถยนต์ ค้าชายแดน เร่งเอฟทีเอ

วางยุทธศาสตร์ แก้ปมส่งออก จุรินทร์ จับมือภาคเอกชน เดินหน้าดันตัวเลขการส่งออก นำเงินเข้าประเทศ เน้นข่าว รถยนต์ การค้าชายแดน เปิดเอฟทีเอเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับภาคเอกขน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย และเอ็กซิมแบงค์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในการ วางยุทธศาสตร์ แก้ปมส่งออก

วางยุทธศาสตร์ แก้ปมส่งออก

ทั้งนี้ จะมุ่งให้เกิดการจับมือกัน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อ ผลักดันการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศ กำลังประสบกับปัญหา ทั้งเรื่องโควิด-19 และด้านเศรษฐกิจ พร้อมทั้งจับมือกันแก้ปัญหา ให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานั้น แบ่งเป็น 3 หมวด คือ การเร่งรัดการส่งออก การค้าชายแดน-การค้าข้ามแดน และ ยุทธศาสตร์การเจรจาข้อตกลงทางการค้า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สรุปรวม 15 ประเด็น คือ

1. การเร่งรัดการส่งออกข้าว โดยเฉพาะผ่านการทำ MOU ระหว่างไทยกับจีน มีข้อตกลงที่จะนำเข้าข้าวจากไทย 1,000,000 ตันได้ดำเนินการไปแล้ว 700,000 ตัน ค้างอยู่อีก 300,000 ตัน โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกำลังดำเนินการเสนอราคาอยู่

2. การผลักดันการส่งออกรถยนต์ ไปยังประเทศเวียดนาม ที่ติดขัดเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานรถยนต์ ที่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม มีกฎเกณฑ์รายละเอียด ในการตรวจสอบ เช่น การตรวจทุกรุ่น ทำให้การส่งออกของไทยติดขัดมีอุปสรรค

ล่าสุดกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ได้มีข้อตกลง ที่จะยอมรับการตรวจรถยนต์นำเข้า หรือส่งออกระหว่างกัน โดยไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อน และเห็นชอบร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ โดยทั้งไทยและเวียดนามอยู่ในนั้นด้วย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงนามร่วมกัน ของแต่ละประเทศ คาดว่าภายในกลางปีหน้าจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามคล่องตัวขึ้น

ส่งออก

3. การส่งออกของไทยไปอินเดีย มีการตรวจสอบรายโรงงาน และรายสินค้า ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรค ในการส่งออก ที่ประชุมมอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือทางไกล ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ให้สะดวกรวดเร็ว และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น

4. การส่งออกรถยนต์ รถยนต์ที่ผลิตใหม่ภายในประเทศไทย เวลาจะส่งออก มักติดขัดเรื่องยังไม่มีทะเบียน ต้องไปทำทะเบียน ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคในการส่งออก ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นต้น

5. ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐ ช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยว่า ปลอดโควิด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกัน 4 กระทรวง ระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โดยจะมีการออกเอกสารรับรองว่า สินค้าปลอดโควิด-19

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะจัดงานประชาสัมพันธ์เป็นคลิปวิดีโอหลายภาษา เผยแพร่ออกไปทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ว่า สินค้าของเรา มีกระบวนการผลิต ที่ปลอดโควิด-19

6. ต้นทุนการขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือ กับค่าธรรมเนียมเรือที่มีราคาสูง และที่อาจมีการยกเลิกตู้ ที่ประเทศไทยจองไว้ หรือที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย บังคับให้ภาคเอกชน หรือผู้ส่งออก ต้องไปใช้ท่าเรือชายฝั่ง A0 ซึ่งค่อนข้างคับแคบ ทำให้ติดอุปสรรคที่ต้องการความรวดเร็ว การเรียกเก็บค่าการใช้ร่องน้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับภาคเอกชน ในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็วต่อไป

7. ค่าเงินบาท ได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปพูดในที่ประชุม ศบศ. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไป

export land bridge ๒๐๑๐๒๒ 1

8. การที่เวียดนามได้มีการไต่สวนกล่าวหาว่า น้ำตาลไทยทุ่มตลาดในเวียดนาม ได้มอบหมายให้ กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกน้ำตาลของไทย ในการทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

9. การช่วยผู้ส่งออกรายย่อยหรือเอสเอ็มอีนั้น จะให้เอ็กซิมแบงค์ ช่วยเพิ่มช่องทาง และเพิ่มเป้าหมาย ที่จะช่วยเอสเอ็มอีให้เพิ่มขึ้นได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และ เอ็กซิมแบงค์ ช่วยเพิ่มชนิดของสินทรัพย์ หรือทรัพย์สิน ที่นำไปเป็นหลักประกันเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถกู้ได้สะดวกขึ้น

10. การค้าชายแดน และการค้าข้ามแดน อยากให้มีการเปิดด่านหรือจุดผ่อนปรนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ไทย ลาวมีทั้งหมด 39 จุด ไทย กัมพูชา มี 10 จุด ซึ่งมอบหมายให้ ผู้แทนของกรมการค้าต่างประเทศ ไปหาหรือกับหอการค้า กำหนดจุดเร่งด่วนที่เป็นเป้าหมาย ที่จะเร่งช่วยผลักดันให้มีการเปิดด่านต่อไป เพื่อส่งเสริมตัวเลขการส่งออกให้มากขึ้นโดยเร็ว

11. ให้มีการเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ไทย ลาว และจีน เพราะทั้งสามประเทศ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าสามารถเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสามเขตนี้ได้ เส้นทางคมนาคม ความร่วมมือ และการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกัน จะช่วยส่งเสริมการส่งออกให้ทั้งสามประเทศ

12. ต้องการให้มีการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทย เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะร่วมมือกับภาคเอกชนว่าทำเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

13. การอำนวยความสะดวก การส่งสินค้าข้ามแดนและสินค้าชายแดน ในการออกใบ C/O ซึ่งเอกชนร้องเรียนว่าอาจติดปัญหาอุปสรรค โดยให้ไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ ว่ามีปริมาณการจราจรทาง C/O มากน้อยแค่ไหน ให้ถือหลักว่า กระทรวงพาณิชย์ยินดีให้บริการให้ดีที่สุด แม้แต่ในช่วงวันหยุด เพื่อที่จะเร่งรัดการส่งออกในช่วงวิกฤติ

14 .ยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป้าหมายคือ

  • จะเร่งรัดการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ไทยกับสหราชอาณาจักร ไทยกับแคนาดา ไทยกับ EFTA และไทยกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง RCEP ซึ่งจะร่วมมือให้มีการลงนามให้ได้ภายใน พฤศจิกายน 2563
  • การทำFTA รายมณฑล คือการทำ MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย ภาคเอกชน ประกอบกับมนฑลต่างๆหรือรัฐต่างๆของประเทศใหญ่ ๆ เพื่อลงลึกในการที่จะให้มีข้อตกลงพิเศษทางการค้าระหว่างกัน ขณะนี้มีความคืบหน้าของกระทรวงพาณิชย์ไทยกับมณฑลไหหลำ เป็นต้น
  • ข้อตกลงระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย กับรัฐเตลังกานาของประเทศอินเดีย ซึ่งมีความก้าวหน้ามาก ได้มีการกำหนดวันที่จะลงนาม วันที่ 18 มกราคม 2564 ซึ่งครบรอบหนึ่งปีที่ผมนำเอกชนไปเยือนรัฐเตลังกานาที่ประเทศอินเดีย

15. เมื่อ FTA บรรลุผลมากขึ้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำ FTA อยู่บ้าง ในบางกลุ่มของผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการ รวมทั้งประชาชนภาคการเกษตร จึงเห็นว่า ควรมีการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นเลขานุการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุน FTA ขึ้น

“ต่อไปนี้ภาครัฐกับเอกชนจะจับมือร่วมกันแก้ปัญหา เดินหน้าด้วยกัน เพื่อทำตัวเลขการส่งออกให้ดีที่สุดและนำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดในช่วงวิกฤติของประเทศและวิกฤติโลกในปัจจุบัน” นายจุรินทร์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo