Politics

‘อาคม’ ลั่นยึดงานเป็นหลัก! ไม่กลัวการเมืองแทรกแซง

“อาคม” รมว.คลังป้ายแดง! ลั่นยึดงานเป็นหลัก ไม่กลัวการเมืองแทรกแซง พร้อมทำงานกับทุกคน ขำถูกสื่อถามจะทำงานมากกว่า 27 วันหรือไม่ มอง “บาทแข็ง” เป็นปัญหาโลกแตก ระบุ “ธปท.” ดูแลอยู่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2563 โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการพนักงานลูกจ้างในสังกัดกระทรวงการคลัง ร่วมในพิธี

อาคม

นายอาคม ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความกังวลเรื่องการเมืองแทรกแซงเหมือนกรณี นายปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือไม่ นายอาคม ระบุว่า ผมทำงานครับ เรายึดงานเป็นหลัก

เมื่อถามว่าทำงานกับใครก็ได้ใช่หรือไม่ ตอบว่า ยึดงานเป็นหลักครับ เมื่อสอบถามว่า จะทำงานได้นานกว่า 27 วันหรือไม่ นายอาคม ยิ้มและหัวเราะให้กับผู้สื่อข่าว

โดย นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นกลไกหนึ่งในเรื่องการดูแลเศรษฐกิจภาพรวม โดยกรณีที่สถาบันต่างๆ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564จะยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องทำให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจของไทยยังเดินหน้าได้ และคลังต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประเมินว่าผลกระทบจะยาวถึง 1 – 2 ปี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านจะเพียงพอหรือไม่ นายอาคม กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยว่าจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน โดยหากกำลังซื้อภายในประเทศ และกำลังซื้อจากต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว แต่รวมถึงการส่งออกด้วย จะทำให้ภาระในเรื่องของเงินกู้ลดน้อยลงไป

จะมีการหารือเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบในส่วนเงินกู้ อาจจะได้รับเสียงบ่นกันว่าออกมาช้า ตรงนี้ต้องดูว่าจะติดขัดอะไร และจะต้องแก้ไขอย่างไร” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า เรื่องการเตรียมมาตรการเปิดเศรษฐกิจประเทศ (Re-Opening Economy) ต้องเตรียมการว่าจะแบ่งระยะอย่างไร เช่นเรื่องของการท่องเที่ยว มีการศึกษาไว้แล้ว เพียงแต่ระยะเวลาอาจจะไม่เหมาะสมก็ต้องมาดูเรื่องของวิธีการที่จะกระตุ้นส่วนนี้อย่างไร เพราะการเปิดประเทศ คือ รับการเดินทางของต่างประเทศ ก็คือการมาของนักท่องเที่ยวและรวมถึงเรื่องการประชุมสัมมนาต่าง ๆ ดังนั้นตรงนี้ต้องสร้างความมั่นใจว่าในประเทศปลอดภัย

สำหรับงานสำคัญเร่งด่วน ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) คอยกำกับดูแลอยู่แล้ว ก็มี 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ

อาคม

1. เรื่องระยะเร่งด่วน คือการดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ จนส่งผลต่อสภาพคล่อง เพราะการใช้จ่ายของภาคเอกชน และภาคประชาชน คิดเป็น 70% ของจีดีพี อีก 20% เป็นส่วนของรัฐ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วย

2. ผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งต่อเนื่องมาจากในช่วงที่คุมเข้มเรื่องโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการบริโภคยังต่ำอยู่ ดังนั้นต้องมีมาตรการออกมาช่วย ทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เรื่องการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังซื้อเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราต้องอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ อย่าลืมว่าในเรื่องการบริโภคภาคในประเทศคิดเป็น 50% ของจีดีพี โดยเศรษฐกิจขณะนี้ต้องพึ่งพาเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก

3. ผลกระทบภาคการท่องเที่ยว ต้องดูธุรกิจที่เกี่ยวข้องของการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในมาตรการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในบางส่วนนั้นมาตรการที่เข้าไปเสริมสภาพคล่องและเข้าไปแก้ปัญหาให้กับกลุ่มต่างๆ อาจจะยังไม่ค่อยออกมาดีเท่าไหร่ ก็ต้องเข้าไปช่วย ศบศ. และได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ว่าในเรื่องการขับเคลื่อนหรือการเร่งรัดแก้ไขข้อติดขัดในส่วนนี้ จะต้องรีบดำเนินการ

4. ภาครัฐ คิดเป็น 20% ของจีดีพี โดยหลังจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐต้องต่อเนื่อง โดยคลังจะดูเรื่องเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และเรื่องล้างท่อ เงินค้างท่อต่าง ๆ เพื่อให้กระแสเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งดูแลกระแสเงินสดภาครัฐ เพื่อให้มีเพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีเพียงพออยู่แล้ว แต่ต้องดูแลให้ทั่วถึง ขณะที่การเบิกจ่ายเม็ดเงินต่าง ๆ ให้ไปสู่ประชาชน

“จริง ๆ แล้วมาตรการที่ ศบศ. ออกมาดูแลครบเกือบทั้งหมด เพียงแต่ว่าในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว ที่เตรียมจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ยังต้องชะลอไปก่อน ดังนั้นก็ต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลตั้งแต่ซับพลายเชนภาคท่องเที่ยว เริ่มมาตั้งแต่ระดับล่าง ชาวบ้านที่เป็นซับพลายเออร์ให้กับโรงแรมต่าง ๆ กิจการโรงแรม กิจการภัตตาคารและแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหมดต้องดูแลทั้งหมด” นายอาคม กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมการบินที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามานั้น ล่าสุด ศบศ. ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปดูว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ผู้ประกอบการขอมา โดยสภาพัฒน์ และ ธปท.ต้องไปดูในรายละเอียดในส่วนของหนี้ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นหนี้ที่มาจากผลประกอบการ หรือว่ามาจากเรื่องโควิด-19 ให้ชัดเจน ที่ผ่านมามีการคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระดับหน่วยงาน

สำหรับเรื่องเงินบาทแข็งค่า เป็นปัญหาโลกแตก วนกลับมา ทุกอย่างต้องติดตามสถานการณ์ โดยทาง ธปท. ดูแลอยู่ เป็นหน้าที่ของ ธปท. ส่วนมาตรการพักหนี้ที่จะหมด 22 ตุลาคมนี้ มีการหารือกันอยู่ โดย ศบศ. มอบหมายให้ ธปท. และ สศช.ดูแล ต้องรอดูผล เพราะเรื่องนี้ สศช.เป็นประธาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo