Digital Economy

คนรักเอไอห้ามพลาด 3 บูธน่าสนใจใน Digital Thailand Big Bang 2018

digital big bang 2018

เข้าสู่วันที่สองของการจัดงาน Digital Thailand Big Bang 2018 กันแล้ว สำหรับใครที่อยากสัมผัสกับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ การมาชมงานมหกรรม Digital Thailand Big Bang 2018 น่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง เนื่องจากมีเทคโนโลยีจากบริษัทยักษ์ใหญ่มาจัดแสดงให้เราได้สัมผัสถึงความสามารถของเอไอกันมากมาย โดยบูธที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

ไมโครซอฟท์ (Microsoft)

หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับภาพของบูธไมโครซอฟท์ที่มาพร้อมระบบซิมูเลชันรถแทร็กเตอร์ (พร้อมอุปกรณ์สวมศีรษะ Vive) รถตู้ รังผึ้ง ฯลฯ มาจัดแสดงภายในบูธ โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มาพร้อมเอไอ ที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รถตู้สำหรับขนส่ง ในจุดนี้เป็นความร่วมมือของไมโครซอฟท์กับ PTTGC และฟรอนทิส ในการนำเอไอเข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร ด้วยการให้เอไอช่วยตรวจจับว่าคนขับรถมีอาการง่วงนอนหรือไม่ ขับรถปลอดภัยหรือไม่ ฯลฯ และหากพบว่ามีความเสี่ยง ก็สามารถแจ้งเตือนผู้ขับ และผู้จัดการระบบขนส่งได้ รวมถึงมีรีพอร์ตให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย

microsoft AI
ในรถจะมีกล้องคอยตรวจจับใบหน้าของคนขับและวิเคราะห์ได้ว่าเสียสมาธิ หรือง่วงนอนไหม

ส่วนระบบซิมูเลเตอร์ของรถแทร็กเตอร์นั้น ไมโครซอฟท์นำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นว่า เอไอสามารถ “ฝึกสอน” พนักงานให้ขับรถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างไรเช่นกัน 

หลายคนอาจสงสัยว่า แค่การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ถึงกับต้องใช้เอไอเลยหรือ แต่ไมโครซอฟท์เผยว่า ในอุตสาหกรรมการเกษตรนั้น รถสำหรับเก็บเกี่ยวพืชผลหนึ่งคันมีมูลค่านับสิบล้านบาท และจำเป็นต้องมีผู้ขับที่เชี่ยวชาญจึงจะสามารถขับได้อย่างปลอดภัย หากขับไม่คล่อง รถสามารถคว่ำได้ง่าย ๆ ขณะที่การฝึกสอนนั้น ที่ผ่านมา ต้องให้คนขับที่มีความเชี่ยวชาญสอนแบบตัวต่อตัว เป็นเวลานานหลายเดือนจึงจะสามารถขับได้ จึงทำให้เสียเวลา และเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหลายอย่าง

Simulation microsoft
ผู้เข้าชมงานสามารถทดลองขับรถได้ในระบบซิมูเลชั่น แต่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ระบบซิมูเลเตอร์นี้สามารถลดความเสียหายและลดค่าใช้จ่ายให้ได้มหาศาล

ในจุดนี้ ไมโครซอฟท์จึงนำเข้ามาช่วยฝึกสอนก่อนลงสนามจริง และพบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมได้นั่นเอง

สุดท้ายคือการใช้เอไอกับฟาร์มผึ้ง ผลงานการพัฒนาของนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่จับเสียงของผึ้งมาวิเคราะห์ และสามารถทราบได้ว่า รังผึ้ง “ปลอดภัย” ดีหรือไม่ น้ำผึ้งเป็นพิษหรือไม่ ผึ้งกำลังจะย้ายรังหรือไม่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

หัวเว่ย (Huawei)

huawei cloud ai
เอไอของหัวเว่ยที่มาโชว์ความสามารถในการบริหารจัดการระบบจราจรในเสินเจิ้น ที่หัวเว่ยอ้างว่าสามารถเพิ่มความเร็วให้รถได้ถึง 15%

สิ่งที่หัวเว่ยนำมาจัดแสดงภายในงานมีทั้งเอไอด้านการวิเคราะห์และจดจำใบหน้า นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการนำเอไอมาบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่ง บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ภายในเมือง โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ รวมถึงกรณีศึกษา การนำเอไอไปประยุกต์ใช้ได้สำเร็จมาแล้วในเสินเจิ้น ได้แก่ ไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะ ระบบการจราจรอัจฉริยะ โดยสามารถเพิ่มอัตราความเร็วของรถได้ 15% และลดเวลาในการดีเลย์ของระบบลงได้ 15.2%

หรือในภาคอุตสาหกรรมที่หัวเว่ยนำโซลูชันคลาวด์และเอไอมาช่วยในการบริหารจัดการโรงงาน ทั้งในด้านระบบโลจิสติกส์, การผลิตและการขาย, ระบบ ERP, การทำ R&D

เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค

JD Central
การชำระเงินโดยใช้ใบหน้ายืนยันตัวตนทำได้แล้วด้วยเทคโนโลยีจาก JD

สุดท้ายคือบูธของห้างเซ็นทรัลที่ในปีนี้มีพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง JD นำเทคโนโลยีเอไออย่างการตรวจจับ และการจดจำใบหน้าเข้ามาให้ได้ทดลองใช้งานกัน รวมถึงสามารถใช้ใบหน้าในการชำระเงินได้ด้วย ซึ่งเป็นระบบที่ JD เผยว่า มีใช้งานแล้วในเมืองจีน และมีแผนจะนำเข้ามาใช้งานในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้

โดยการทำงาน ผู้ใช้ต้องให้ระบบทำการบันทึกภาพใบหน้าก่อน จากนั้น สามารถเดินหยิบสินค้าภายในร้านได้ตามสะดวก และเมื่อถึงจุดชำระเงิน ก็เพียงสแกนบาร์โค้ดของสินค้าด้วยตัวเอง และสแกนใบหน้า ระบบสามารถใช้ภาพใบหน้าในการยืนยันตัวตน และชำระเงินได้เลยนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ภาพของการใช้เอไอเริ่มปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้นแล้วในหลายอุตสาหกรรม แต่มากไปกว่านั้นคือ ในปีต่อ ๆ ไป เราเชื่อว่า การพัฒนาของเอไอจะยิ่งมีความโดดเด่น และจับต้องได้มากขึ้น รวมถึงเข้ามาแทนที่งานที่มนุษย์ทำได้มากขึ้น ดังนั้น นอกจากความตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นเอไอเหล่านี้แล้ว มันอาจเป็นการกระตุ้นเตือนที่ดี ให้มนุษย์ไม่หยุดยั้งในการมองหาความสามารถ หรือทักษะใหม่ ๆ ก็เป็นได้

Avatar photo