Business

5ปีทุนต่างชาติลงอสังหาฯไทยกว่า3.2แสนล้าน

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจคือการเข้ามาร่วมทุน ระหว่างทุนต่างชาติและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยหลายราย นำพาทั้งโนว์ฮาวและเงินทุนเข้ามาสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเรา โดยเฉพาะเทคโนโลยีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบอาคารสูง หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งเปิดตัวนับร้อยโครงการ มีความคืบหน้าทั้งการก่อสร้าง และการขายที่ได้การตอบรับที่ดีจากตลาด เพราะหลายโครงการนำรูปแบบแนวคิดการพัฒนาจากต่างประเทศ มานำเสนอคอนเซ็ปท์ที่แปลกใหม่ให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย เช่นเดียวกับการพัฒนาตึกสูงในเมืองใหญ่ทั่วโลก เป็นการยกระดับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยสู่มาตรฐานความเป็นสากลมากขึ้น

Bangkok Tallest Towers

            หากย้อนไปดูความเคลื่อนไหว การร่วมทุนพัฒนาระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยและทุนต่างชาติจะพบว่ามีกว่า 25 รายที่ผนึกความร่วมมือกัน ซึ่งข้อมูลจากฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยนายภัทรชัย ทวีววงศ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์สฯ กล่าวว่า ความร่วมมือในกิจการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทย สามารถรวบรวมจากการเปิดตัวโครงการ่วมทุนย้อนหลังไป 5 ปีตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบันมีโครงการความร่วมมือในลักษณะร่วมทุนดำเนินการ 25 รายด้วยกัน มุลค่าโครงการร่วมทุนโดยรวมหากแยกเป็นรายประเทศ เป็นกลุ่มญี่ปุ่นกว่า 2.1 แสนล้านบาท จีนและฮ่องกง 8.8 หมื่นล้านบาท และสิงคโปร์ 2.3 หมื่นล้านบาท รวมยอดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทยของต่างชาติ มีมูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

ananda mitsui fudosan dooddot 1

ร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นมากที่สุด

เริ่มจากรายแรก บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้มีโครงการร่วมทุนพัฒนาอสังหากับทุนต่างชาติ กลุ่มมิตซุยฟูโดซัง (Mitsui Fudosan)จากญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 21 โครงการ เป็นมูลค่า 9.5 หมื่นล้านบาท และมีอีก 6 โครงการ มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นมูลค่าร่วมทุนกว่า 1.1 แสนล้านบาท

ขณะที่ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด(มหาชน) มีโครงการร่วมทุนกับ กลุ่มมิตซูบิชิเอสเตท (Mitsubishi Estate)จากญี่ปุ่นเช่นกัน โดยร่วมทุนมาตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 15 โครงการ เป็นมูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท และมีอีก 2 โครงการ มีมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท มูลค่าโครงการร่วมทุนรวม 8.7 หมื่นล้านบาท

ด้านบริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีโครงการร่วมทุนกับกลุ่ม ฮันคิว เรียลตี้ (Hankyu Realty) ร่วมพัฒนา 2 โครงการที่พักอาศัยและค้าปลีก มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท อีกรายคือบริษัท วรลักษณ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มชินวา (Shinwa Group)จากญี่ปุ่นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่ารวม 1,200 ล้านบาท ด้านบริษัท เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับ ชองเทียน คอนสตรัคชั่นกรุ๊ป (Zhong Tian Construction Group) พัฒนาโครงการค้าปลีกและเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ที่จังหวัดชลบุรี มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

โครงการร่วมทุนโดยรวมหากแยกเป็นรายประเทศ เป็นกลุ่มญี่ปุ่นกว่า 2.1 แสนล้านบาท จีนและฮ่องกง 8.8 หมื่นล้านบาท และสิงคโปร์ 2.3 หมื่นล้านบาท

RE For1

RE For2

ทุนจีนเข้าไทยมากเป็นอันดับสอง

บริษัท ชาญอิสสระ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มจุนฟา (Junfa) จากจีน พัฒนาที่พักอาศัยและโรงแรมในกรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 3,200 ล้านบาท บริษัท คันทรี่กรุ๊ป ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มบีซีอีจี (BCEG) จากจีนพัฒนาที่พักอาศัยและโรงแรมในกรุงเทพฯ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มกรีนแลนด์ (Greenland Group) จากจีน พัฒนที่พักอาศัยและค้าปลีกในกรุงเทพฯ มูลค่าโครงการ 5,400 ล้านบาท

b749584f capture 01 re 1

บริษัทจากต่างชาติโดยตรงที่เข้ามาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทยก็มีเช่น บริษัท เทียนเฉิน อินเตอร์เนชั่นแนล พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย (Tienchen International Property (Thailand) Co., Ltd.) พัฒนาที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่า 4,000 ล้านบาท บริษัท โฮมซิตี้ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด คือกลุ่มโฮมซิตี้กรุ๊ป (Home City Group) จากจีน พัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่า 3,200 ล้านบาท อีกรายคือ บริษัท จีดีพี พร็อพเพอร์ตี้จำกัด (GDT Property Co., Ltd.) หรือกลุ่ม Gorden Brothers จากจีนเข้ามาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯมูลค่า 3,200 ล้านบาท

บริษัทจากญี่ปุ่นโดยตรงที่เข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาฯ อีกรายเช่น ซันเคียวโฮม (Sankyo Home Co., Ltd.) ของซันเคียวกรุ๊ป Sankyo Group จากญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯมูลค่า 3,800 ล้านบาท ผู้ประกอบการอีกราย ที่ร่วมทุนกับต่างชาติคือ บริษัท ชัยพัฒนา (ประเทศเทย) จำกัด หรือ Chaipattana (Thailand) Co., Ltd.ร่วมทุนกับ Sheng Di Jia Group จากจีน พัฒนาที่พักอาศัยในจังหวัดระยอง มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท

ทุนอสังหาฯสิงคโปร์เข้าไทยเพิ่ม

รายต่อมา บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่ม TEE Development Pte. Ltd. จากสิงคโปร์ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่า 8,600 ล้านบาท ผู้ประกอบการไทยชื่อดังอีกรายที่ร่วมทุนต่างชาติ คือ บริษัท นารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ร่วมทุนกับ ARCH Capital Management จากฮ่องกง พัฒนาที่พักอาศัยในจังหวัดภูเก็ต มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์ (Hongkong Land) จากฮ่องกง พัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯและชลบุรี มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท อีกรายคือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับสหรัฐอเมริกา กลุ่ม Apolo Global Management Co., Ltd. พัฒนาโครงการที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่า 8,400 ล้านบาท

บริษัท เคปเปลไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ Keppel Thai Property Plc. ร่วมทุนกับกลุ่ม King Wai Group จากจีนและฮ่องกง พัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ มูลค่า 1,700 ล้านบาท ผู้ประกอบการจากจีนอีกรายคือ RisLand (Thailand) Co., Ltd. พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนอีกรายมาจากสิงคโปร์ กลุ่ม Keppel Land เข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่า 7,000 ล้านบาท

กลุ่มทุนจีนอีกรายที่เข้่ามาพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ TCC Engineering Co., Ltd.พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกไทย กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์ จากฮ่องกง พัฒนาที่อยู่อาศัยและค้าปลีกในกรุงเทพฯ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

ผู้ประกอบการจากสิงคโปร์ กลุ่มคาร์ลตัน Carlton Group เข้ามาพัฒนาโรงแรมในกรุงเทพฯ มูลค่า 2,500 ล้านบาท อีกรายกลุ่มเจอาร์คิวชู JR Kyushu จากญี่ปุ่น เข้ามาพัฒนาโรงแรม ในกรุงเทพฯ มูลค่า 2,900 ล้านบาท และรายที่ 25 กลุ่มแปซิฟิกสตาร์ PACIFIC STAR จากสิงคโปร์ เข้ามาพัฒนาที่พักอาศัยในกรุงเทพ มูลค่า 7,500 ล้านบาท

ข้อมูลดังกล่าวเป็นการรวมรวม โดยฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งบางส่วนมาจากงานแถลงข่าวเปิดตัว และบางส่วนมาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยค่อนข้างมาก และเชื่อว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

 

 

 

Avatar photo