Politics

ย้อนรอย ‘ทุจริตบ้านเอื้ออาทร’ ประชานิยมยุคทักษิณที่ยังตามหลอกหลอน

“ทุจริตบ้านเอื้ออาทร” เป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่ตามมาหลอกหลอนประเทศไทยจากยุค “ทักษิณ ชินวัตร”

โครงการสร้างบ้านเอื้ออาทร เป็นหนึ่งในโครงการประชาชนนิยมสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีเป้าหมายจะสร้างที่อยู่อาศัยราคาจับต้องได้สำหรับผู้มีรายได้น้อย

ทุจริตบ้านเอื้ออาทร วัฒนา ทักษิณ

หลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการตวรจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)” เพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการในยุคทักษิณ รวมถึง บ้านเอื้ออาทร

ต่อมา คตส. ได้ส่งสำนวนการตรวจสอบทั้งหมด ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่า ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูล “วัฒนา เมืองสุข” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และพวก และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งนี้ มีการกล่าวหาว่า นายวัฒนาและพวก เรียกรับเงินจากบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการ บ้านเอื้ออาทร เพื่อให้เอกชนได้เป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ โดยบริษัทเอกชนให้ข้อมูลว่า ได้รับการติดต่อจากผู้อ้างว่าเป็น นายวัฒนาและ “เสี่ยเปี๋ยง” อภิชาติ จันทร์สกุลพร ทวงถามค่าดำเนินการอนุมัติโครงการ

ในการไต่สวนคดีปี 2562 “แก้วสรร อติโพธิ” อดีตกรรมการ คตส. ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในการตรวจสอบโครงการ บ้านเอื้ออาทร ขึ้นเบิกความต่อศาลฯ ว่า มีการสร้างเครือข่ายเรียกรับเงินในการสร้างโครงการ เมื่อติดตามกระแสเงินและเส้นทางการเงินพบว่า มีการโอนเงินไปเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง เช่น น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จากนั้นโอนเงินไปยัง “ร้านก๋วยเตี๋ยว” เพื่อบังหน้า จากนั้นนำเงินออกนอกประเทศและโอนกลับเข้ามายังบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ของเสี่ยเปี๋ยง ที่มีความใกล้ชิดกับนายวัฒนา โดยอ้างว่าเป็นรายได้จากการขายข้าว

นอกจากเสี่ยเปี๋ยงจะมีชื่อเป็นตัวละครในคดีทุจริต บ้านเอื้ออาทรแล้ว ก็ยังเป็นตัวละครสำคัญในคดีทุจริตจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อีกด้วย

แก้วสรร อติโพธิ บ้านเอื้ออาทร
แก้วสรร อติโพธิ

หลังจากการใช้เวลาตรวจสอบยาวนานกว่า 10 ปีในที่สุดวันนี้ (24 ก.ย. 63) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ก็นัดอ่านคำพิพากษาคดี ทุจริตบ้านเอื้ออาทร หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยรวม 14 ราย รวมถึงนายวัฒนา เมืองสุข

โดยก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษา นายวัฒนาโพสต์ความในใจผ่านเฟซบุ๊กว่า คดีนี้เป็นคดีติดตัวคดีสุดท้ายจากทั้งหมดประมาณ 10 คดี โดยมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองใน 3 ประเด็น

  • ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ชี้ให้เห็นว่ากติกาและกระบวนการทั้งหมดของโครงการไม่ถูกต้องชอบธรรม
  • ตรงกันข้ามกลับมีหลักฐานแสดงความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลและประสิทธิผลของโครงการ การอนุมัติโครงการและรับซื้อโครงการดำเนินการอย่างถูกต้องทุกหน่วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกคน
  • ไม่มีการรับผลประโยชน์หรือเส้นทางการเงินใดๆ เชื่อมโยงมาถึงผมหรือเจ้าหน้าที่รัฐคนใด

ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะมารับฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง แม้จะมีคนบอกให้ “หนี” เพราะคำตัดสินจะออกมาลงโทษให้จำคุกลอดชีวิต

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมภูมิใจ เพราะไม่เพียงทำด้วยความสุจริตโปร่งใส แต่ยังมีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

มันคือยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่คนไทยไม่เคยได้สัมผัสอีกหลังการรัฐประหารปี 2549 และตกต่ำมากที่สุดหลังรัฐประหารปี 2557

หากคำตัดสินจะเป็นเช่นนั้นจริง ผมจะขอใช้สิทธิประกันตัวเพื่ออุทธรณ์ เพราะเป็นคนทำคดีนี้ด้วยตนเอง”

ทุจริตบ้านเอื้ออาทร

พิพากษา บ้านเอื้ออาทร “วัฒนา” เจอคุก 99 ปี

แต่ในที่สุด ศาลฎีกาฯ ตัดสินพิพากษา จำคุกนายวัฒนา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 99 ปี จากความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 กำหนดอัตราโทษสูงสุด 50 ปี

ส่วนจำเลยที่ 4 นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ ตัดสินจำคุกรวม 66 ปี จากความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี แต่ตามมาตรา 91 กำหนดโทษสูงสุด 50 ปี

จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง ตัดสินจำคุกรวม 20 ปี จากความผิด 5 กระทง กระทงละ 4 ปี, จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ตัดสินจำคุกรวม 44 ปี จากความผิด 11 กระทงๆ ละ 4 ปี, จำเลยที่ 7 น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ ตัดสินโทษจำคุก 32 ปี จากความผิด 8 กระทง กระทงละ 4 ปี,

จำเลยที่ 8 บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เป็นโทษปรับ เป็นจำนวนเงิน 270,000 บาท และจำเลยที่ 10 คือ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ให้นับโทษต่อจากศาลจังหวัดพัทยา

นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้ริบทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดในโครงการทุจริตบ้านเอื้ออาทร ในส่วนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 และ จำเลยที่ 8 รวม 1,323 ล้านบาท จำเลยที่ 5 จำนวน 763 ล้านบาท จำเลยที่ 7 จำนวน 1,056 ล้านบาท และจำเลยที่ 10 จำนวน 40 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการชำระภายใน 30 วัน หากไม่เป็นตามนี้จะต้องถูกคิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ส่วนจำเลยที่ 2 นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จำเลยที่ 3 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บมจ. ปริญสิริ (PRIN) จำเลยที่ 9 บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 11-14 บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ศาลฯมีคำสั่งยกฟ้อง

thumbnail แบบอาคารชุดอาศัย 5 ชั้น

แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว แต่คดี บ้านเอื้ออาทร ยังไม่ถึงที่สุด คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ภายใน 30 วัน

ล่าสุดทนายความของนายวัฒนา ได้ยื่นหลักทรัพย์10 ล้าน เป็นในบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านเเละเติมเงินสดเพิ่มอีก 5 ล้าน ให้ประกันตัวและมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo