Politics

ปชป.ขอคสช.ทบทวนห้ามใช้โซเชี่ยลมีเดียหาเสียง

ภายหลังจากรัฐบาลคสช. ประกาศโรดแมพการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ก็เตรียมความพร้อมตามกรอบเวลา แต่ยังมีข้อข้องใจในประเด็น ที่คสช.ห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับพฤติกรรมการสื่อสารของประชาชนในปัจจุบัน

องอาจ คล้ามไพบูลย์
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการห้ามใช้โซเชียลมีเดียหาเสียงเลือกตั้งว่า ตนอยากให้ คสช. หารือร่วมกับ กกต.ในการใช้โซเชียลเมีเดีย ในการสื่อสารของพรรคการเมือง สมาชิก และผู้สมัคร  เพราะการกำหนดกว้างๆ นั้น เป็นการไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลประกาศ ว่าเป็นประเทศไทย 4.0

เพราะขณะนี้สังคมก้าวหน้าไปมาก มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารกว่างขวาง แต่เรากลับมาห้ามใช้ช่องทางดังกล่าวสื่อสารระหว่างพรรคการเมือง สมาชิก และผู้สมัคร ทั้งที่เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในเรื่องนี้ ไม่เป็นการกระทบความมั่นคงประเทศแต่อย่างใด และหากพบว่ามีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดกระทำผิดก็สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้

ส่วนการแถลงข่าวว่าภายหลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 คลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้บางส่วนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ มีความพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยในเบื้องต้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคทันที โดยจะมีการประชุมในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 11.30 น.

ในที่ประชุมกรรมการบริการพรรค จะมีการพิจารณาร่างข้อบังคับพรรคใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกฎหมายพรรคการเมือง และข้อกำหนดตามกติกาใหม่ โดยจะเป็นการกำหนดการดำเนินการของพรรคในหลายเรื่อง ทั้งการหาสมาชิก การเลือกหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้เมื่อกรรมการบริหารพรรค ประชุมและเห็นชอบข้อบังคับพรรคแล้ว ในวันที่ 24 ก.ย.ที่จะถึงนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีการจัดประชุมของพรรคใหม่ เพื่อพิจารณาข้อบังคับพรรค

หากที่ประชุมใหญ่เห็นชอบข้อบังคับพรรค ก็จะมีการดำเนินการตามข้อบังคับพรรคต่อไป อาทิ การรับสมัครสมาชิกพรรค การจัดตั้งสาขาพรรค รวมถึงการเลือกหัวหน้าพรรคด้วย ซึ่งการเลือกหัวหน้าพรรคในครั้งนี้ จะมีการเลือกแบบหยั่งเสียงเลือกโดยตรง จากสมาชิกพรรค ผ่านแอพพลิเคชั่นที่พรรคจัดทำขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ทั้งยังเป็นการสืบสานเจตนารมย์ตามครรลองประชาธิปไตยของพรรค ส่งเสริมประชาธิปไตยภายในพรรค เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง และยังเป็นการสนองตอบการปฏิรูปการเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะใช้เวลาในการดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคประมาณ 1 เดือน ซึ่งประเมินว่าจะได้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ จะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดาของปชป. เมื่อมีการเลือกตั้งหัวหน้า ก็จะมีผู้เสนอตัว หรือสมาชิกในพรรคให้การสนับสนุนบุคคลขึ้นมาชิงตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งไม่ใช่แค่นพ.วรงค์ แต่คนอื่นก็สามารถเสนอตัวเข้าเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ อย่างไรก็ตามการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ และเชื่อว่าทุกคนจะเคารพมติของสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง

ทั้งนี้จึงอยากฝากให้ คสช.พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ โดยคสช.อาจหารือกับ กกต. เพราะเป็นคนกำหนดกติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะมองว่าตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญทางการเมือง และหัวใจสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย สร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะหลังจากนี้การดำเนินการทางการเมืองใดๆ ควรเป็นไปอย่างโปร่งใส เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight