Lifestyle

น้ำลดอย่าวางใจ! สธ. เตือนระวัง โรคมากับน้ำท่วม – หลังน้ำลด

โรคมากับน้ำท่วม หลังน้ำลด สธ.เตือนประชาชน ดูแลสุขภาพ รักษาร่างกายให้อบอุ่น สั่งสถานพยาบาลทุกแห่ง ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก “โนอึล”

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะ โรคมากับน้ำท่วม  และหลังน้ำลด

โรคมากับน้ำท่วม

ทั้งนี้ จากผลกระทบพายุโซนร้อน “โนอึล” ที่ส่งผลให้หลายพื้นที่ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนงบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ ลงไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน จัดส่งชุดยาปฐมพยาบาลเบื้องต้น จำนวนกว่า 20,000 ชุด ให้กับผู้ประสบภัยใน 11 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สงขลา นครพนม ตาก ปราจีนบุรี นครปฐม มุกดาหาร นราธิวาส ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด และบึงกาฬ

พร้อมกันนี้ ยังกำชับให้ ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกเยี่ยมบ้าน ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และให้คำแนะนำประชาชน ป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม และ หลังน้ำลด อาทิ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก

สำหรับ สถานบริการสาธารณสุข ได้รับรายงานว่า มีโรงพยาบาล 5 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 11 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำท่วมชั้นล่างอาคาร น้ำท่วมขังพื้นที่โดยรอบ ต้นไม้ล้มทับรั้ว บ้านพัก อาคาร สิ่งของเสียหาย ขณะนี้ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติสามารถเปิดให้บริการได้

“ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ รักษาร่างกายให้อบอุ่น หากป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ให้คนในครอบครัว และบุคคลอื่น ๆ และ รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน” นายแพทย์สุขุมกล่าว

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน อีกโรคที่น่าเป็นห่วงคือ โรคไข้มาลาเรีย โดย กรมควบคุมโรคระบุว่า ประเทศไทยยังมีโรคไข้มาลาเรียอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา น้ำตก โดยคาดว่าจะยังพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปี 2563 (วันที่ 1 ม.ค.–17 ก.ย. 63) พบผู้ป่วยในพื้นที่ 51 จังหวัด จำนวน 3,415 ราย เสียชีวิต 1 ราย

จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยะลา 1,070 ราย รองลงมาคือตาก 851 ราย และกาญจนบุรี 425 ราย ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 2,479 ราย (ร้อยละ 73) และต่างชาติ 936 ราย (ร้อยละ 27)

ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุ 25-44 ปี (ร้อยละ 28) รองลงมาคือ 5-14 ปี (ร้อยละ 24) อายุ 45 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 21) และอายุ 15-24 ปี (ร้อยละ 21) ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 35) เด็ก/นักเรียน (ร้อยละ 34) และรับจ้าง (ร้อยละ 20) ตามลำดับ

อาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรีย จะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่อง ที่มีเชื้อ กัดประมาณ 10-14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และกล้ามเนื้อ ตาเหลือง ตับหรือม้ามโต อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้

หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย หากมีอาการป่วยดังกล่าวภายหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่าหรืออาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย ให้รีบนำไปพบแพทย์ และให้ประวัติการเดินทางเข้าป่าหรือพักอาศัยในป่า

กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนว่า ควรป้องกันตนเอง ไม่ให้โดนยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปล เวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo