Politics

‘นพ.ยง’ แจงข้อสงสัย ‘โควิด’ เป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่?

โควิดเป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่ ? “นพ.ยง” แจงข้อสงสัย ชี้ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย รักษาหายแล้ว สามารถเป็นได้อีก เหตุภูมิต้านทานต่ำ กำชับระวังการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ไขข้อสงสัยว่า โควิดเป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่ โดยระบุว่า “โควิด 19 เป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่” เพิ่งให้สัมภาษณ์วารสารชื่อดัง ถึงเรื่องการเป็นซ้ำของ โควิด 19 ขณะนี้ทั่วโลก มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก 4 ราย คือใน ฮ่องกง เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และ รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา

มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก ในฮ่องกงระยะห่างกัน 4 เดือนครึ่ง ผู้ป่วยในอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกไม่ถึง 50 วัน

ผู้ป่วยเป็นครั้งที่ 1 ไม่รุนแรง ส่วนการเป็นครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรง ยกเว้นในผู้ป่วยของอเมริกา ที่เป็นครั้งที่ 2 มีอาการปอดอักเสบ ส่วนครั้งแรกไม่รุนแรง

โควิดเป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่

การติดเชื้อ โควิด 19 ซ้ำ ต้องแยกจาก การตรวจพบเชื้อซ้ำ ในผู้ที่หายจาก โควิด 19 หรือที่เราชอบพูดกันว่า ตรวจพบซากไวรัส

จากการศึกษาของเราในการติดตาม ผู้ที่หายป่วยจาก โควิด 19 มีการตรวจพบเชื้อซ้ำได้อีก หลังจากผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 14 ราย จากจำนวน 212 ราย (6.6%) ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 5 สัปดาห์จนถึง 15 สัปดาห์หลังจากที่มีอาการ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าผู้มีอาการมาก หรือปอดบวม

การตรวจภูมิต้านทาน จากการติดตามของเราในผู้ป่วย 217 ราย ที่หายจาก โควิด 19 แล้วในช่วง 4 สัปดาห์ถึง 14 สัปดาห์ จะตรวจไม่พบภูมิต้านทาน IgG ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอาการน้อย เราตรวจทั้งภูมิต้านทานต่อ spike protein และ neucleocapsid

จากการศึกษาในอดีต coronavirus ทั่วไปที่ทำให้เกิดหวัด ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นค่อนข้างต่ำ และลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น RSV Rhinovirus เป็นแล้วเป็นอีกได้

ไม่แปลกเลยที่ RSV ในเด็กบางคนเป็นทุกปี เพราะเชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเป็นส่วนใหญ่ และภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่นาน และไม่สามารถปกป้องกันเป็น ซ้ำได้

เช่นเดียวกัน โควิด 19 ในผู้ที่มีอาการน้อย และถ้าภูมิต้านทานต่ำ และไม่อยู่นาน ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก คงจะต้องติดตามต่อไปว่า จะพบได้บ่อยแค่ไหน เพราะการระบาดของโรคนี้ เพิ่งเป็นมาแค่ 9 เดือน คงจะก็มีข้อมูลการเป็นซ้ำเพิ่มขึ้น

ระบบภูมิต้านทานกับการติดเชื้อซ้ำของ โควิด 19 จะมีความสำคัญมาก กับวัคซีนที่กำลังพัฒนา ในการป้องกันโรค รวมทั้งภูมิที่เกิดขึ้น จะส่งเสริมการ เกิดโรคครั้งที่ 2 หรือไม่

การศึกษาภูมิระยะยาวของผู้ที่หายป่วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำการศึกษา ขณะนี้ผมและคณะ ร่วมกับสำนักอนามัยและการแพทย์ ของกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กำลังทำการศึกษาติดตามภูมิต้านทานในผู้ที่หายป่วยจาก โควิด 19 ระยะยาวให้ถึง 1 ปี ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว ขอเชิญชวนผู้ที่หายจากโรค ติดตามระดับภูมิต้านทาน เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาวัคซีนต่อไป

นพ.ยง ระบุอีกว่า การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา มีการระบาดอย่างมาก เริ่มจากเมืองที่ติดต่อกับบังคลาเทศ เมืองสิตตะเว ในรัฐยะไข่ มีแนวโน้มที่จะกระจายไปยังเมืองอื่น โดยเฉพาะเมืองตามชายทะเล ในเวลา 1 สัปดาห์ ยอดผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

สิ่งที่สำคัญคือ พรมแดนธรรมชาติ ที่ติดต่ออันยาวไกล มีการเคลื่อนย้ายของประชากร อาจจะเหนือความควบคุม ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดในประเทศไทยได้ ประกอบกับฤดูกาลนี้ เป็นฤดูกาลที่มีโรคทางเดินหายใจชุกชุม

ความสามารถในการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อยับยั้งการระบาดเป็นเรื่องสำคัญมาก มีค่าใช้จ่ายสูง การตรวจที่ดีที่สุด คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส จะมีความไวสูงสุด

สำหรับประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มอัตราการตรวจ โดยเฉพาะในแรงงานต่างด้าว บุคคลที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การนำไปไว้รวมกัน ก็สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะสภาพแวดล้อม จะเอื้ออำนวยให้เกิดการระบาด

สิ่งที่ถูกต้องจะต้องทำแบบ State quarantine สำหรับผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก่อนที่จะส่งกลับ จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก

นับแต่นี้ต่อไป การตรวจวินิจฉัยเชิงรุก ในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องทำเพิ่มขึ้น ขีดความสามารถในการตรวจของประเทศไทย มีสูงมาก เพราะขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ตรวจพันธุกรรมของไวรัสได้ประมาณ 250 แห่ง ปัญหาจึงอยู่ว่าใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศ

การนำเข้าแรงงาน ถ้ามีการ quarantine ก็จะมีค่าใช้จ่าย จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ให้แรงงานต่างๆลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
การระบาดในสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ผ่านมา ก็เกิดจากแรงงานต่างประเทศ

เรามีบทเรียนจากสิงคโปร์และมาเลเซีย น่าจะนำมาใช้ในการป้องกัน ไม่ให้เกิดการระบาดเกินการควบคุมของประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK