Politics

‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ เปิดใหม่ก็ปิดอีกได้! ‘พุทธิพงษ์’ เชื่อเฟซบุ๊กไม่ฟ้องไทย

รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส เปิดใหม่หากทำผิดก็ปิดอีกได้! “พุทธิพงษ์” ยันทั้งหมดทำตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เชื่อ “เฟซบุ๊ก” ไม่ฟ้องรัฐบาลไทย

นาย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงกรณีที่ “เฟซบุ๊ก” เตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลไทย หลังถูกขอให้เฟซบุ๊กบล็อก หรือ ปิดกั้นการเข้าถึงเพจ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส โดยนายพุทธิพงษ์ ระบุว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

โดยขณะนี้ศาลมีคำสั่งให้ปิดกลุ่ม และบัญชีที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายทั้ง Facebook YouTube และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา

รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

โดยมีเฟซบุ๊กจำนวน 661 รายการ ยูทูป 289 รายการ ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บไซต์อื่นๆ 5 รายการ รวม 1,024 รายการ ซึ่งมีกำหนด 15 วัน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 27 จะต้องดำเนินการปิดเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทั้งหมดแล้ว ซึ่งกลุ่ม รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกปิดไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทั้งหมดทำตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ใช่การกลั่นแกล้งบุคคลใด หากประชาชน แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง หรือเรื่องอื่นที่ไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินคดี เฉพาะการหมิ่นสถาบันเท่านั้น แต่หากมีการหมิ่นประมาทผู้อื่น การหลอกลวง ฉ้อโกง แชร์ลูกโซ่ การพนันออนไลน์ หรือความผิดอื่น เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการทั้งหมดไม่มีละเว้น

ส่วนกรณีที่ เฟซบุ๊ก จะดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลไทย เนื่องจากมองว่า การบล็อกดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นนั้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการจากเฟซบุ๊ก แต่มั่นใจว่า เฟซบุ๊กจะไม่ดำเนินการทางกฎหมายดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือ และปิดกลุ่มดังกล่าวตามคำสั่งศาลทั้งหมด แต่จะเป็นการปิดออกจากระบบ หรือ ปิดเฉพาะในประเทศไทยนั้น ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของเฟซบุ๊ก แต่หากจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง กระทรวงดิจิทัลฯ จะมีทีมกฎหมายศึกษาข้อมูลและพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม รมว.ดีอีเอส ระบุว่า สำหรับกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาใหม่นั้น เป็นสิทธิ์ของแอดมินที่สามารถตั้งขึ้นได้ แต่หากกระทำผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการเหมือนเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปหากโพสต์หรือแชร์ข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่หากเป็นเพียงสมาชิกในกลุ่มดังกล่าว ยังไม่ถือว่ามีความผิดแต่อย่างใด

“ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างประเทศเทศ ถ้าทำผิดก็ละเว้นไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้มาตรฐานเดียวกันในการบังคับใช้กฏหมายกระนั้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่ “เฟซบุ๊ก” เตรียมจะถอนการลุงทุนนั้น ส่วนตัวคิดว่าบริษัทข้ามชาติล้วนตัดสินใจอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น ก่อนจะเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยควรต้องศึกษาบริบท – ระเบียบทางสังคมมาก่อนแล้ว ซึ่งต้องแยกให้ได้อย่ามาปนกัน ตนห้ามไม่ได้ถ้าทางเฟซบุ๊กจะตัดสินใจเช่นนั้น ตนเชื่อว่า ถ้ากฏหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์คงไม่มีบริษัทข้ามชาติอื่นๆมาลงทุน เหตุการณ์นี้จะทำให้โลกรู้ว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้กระบวนการกฏหมายไมได้ละเมิดสิทธิใคร

ส่วนความคืบหน้าของเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” หลังเปิดตัวเป็นช่องทาง ให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย พบว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย เริ่มมีแนวโน้มลดลง

สำหรับสถิติระหว่างวันที่ 15 – 24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมาย เข้ามา 2,931 รายการ (ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 680 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 434 รายการ ยูทูบ 63 รายการ ทวิตเตอร์ 50 รายการ และเว็บไซต์/อื่นๆ 133 รายการ

หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้น จำนวน 354 รายการ (ยูอาร์แอล) และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่ คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 360 รายการ

สำหรับตัวเลขรวม ที่ได้รับการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน นับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 3,232 รายการ

จากการตรวจสอบแล้ว เข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว จำนวน 1,781 รายการ (เตรียมส่งจนท.ตร./เจ้าของแพลตฟอร์ม), อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo