Politics

หวั่นเกิด ‘6 ตุลา’ ภาคสอง ‘คำนูณ’ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปมาตรา 165 สกัด ‘ม็อบเลยเถิด’

“คำนูณ” ลุกขึ้นอภิปรายในสภา หวั่นเหตุชุมนุมทางการเมืองบานปลาย ซ้ำรอย “6 ตุลา” ชี้การชุมนุม 10 ส.ค.รุนแรงแบบไม่เคยเห็นมาก่อน เลยเถิดไปไกล แนะเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ต้องบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินมาตรการ ทางการเมืองควบคู่กัน

วันนี้ (11 ส.ค.) นาย คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ขึ้นอภิปรายในการประชุมสภา โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยระบุุว่า สถานการณ์เริ่มจะเลยเถิดไปไกล ทำให้เกิดความวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย 6 ตุลาคมขึ้นมา โดยระบุว่า

คำนูณ
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ Kamnoon Sidhisamarn

ขอกราบเรียนหารือกับท่านประธานด้วยความอึดอัด คับข้อง และเชื่อว่า พี่น้องประชาชนจำนวนมาก ในวันนี้ ตกอยู่ในสภาวะไม่ต่างจากผม หลังจากได้รับทราบและติดตามการชุมนุม ทางการเมือง 3 ครั้ง

  • 3 สิงหาคม – อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  • 9 สิงหาคม – ประตูท่าแพ เชียงใหม่
  • 10 สิงหาคม – ลานพญานาค ธรรมศาสตร์

และยิ่งอึดอัดคับข้องหนักยิ่งขึ้น เมื่อทราบเป็นเบื้องต้นว่า ได้มีประกาศชุมนุมครั้งที่ 4 ในวันพรุ่งนี้

  • 12 สิงหาคม – สวนลุมพินี

เฉพาะการ ชุมนุม เมื่อวานนี้ 10 สิงหา เป็นการชุมนุมที่มีเนื้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องที่แทบไม่เคยมีคนไทยคนไหน เรียกร้องในการชุมนุมสาธารณะมาก่อน

“มันเลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล มันเลยเถิดเกินการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมันชวนให้คิดว่า การไม่ยอมรับเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับสถานเดียวนั้น เป้าหมายสูงสุดคืออะไร สรุปคือ มันเลยเถิดขอบเขตของการต่อสู้ทางการเมืองปกติไปไกล” 

นอกจากนั้น ยังเป็นการชุมนุม ที่มีรูปแบบ บางช่วงบางตอน นำประเพณีปฏิบัติ ที่สืบทอดมายาวนาน ด้วยความเคารพศรัทธาสูงสุด ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ มาล้อเลียน  และยังเป็นการร่วมกระทำการ ของผู้ต้องหา 2 คน ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมา อันมีลักษณะที่เข้าข่าย ผิดเงื่อนไข การปล่อยตัวชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังมีการไลฟ์สดมาจากต่างประเทศ ของผู้หลบหนีคดีท่านหนึ่ง ที่เป็นฮีโร่ของเยาวชนจำนวนหนึ่ง ผู้หลบหนีคดีท่านนี้ เคยกล่าวไว้ในอดีตทำนองว่า ประเทศนี้ต้องลงเอยด้วยความรุนแรง และสงครามกลางเมือง

เกิดคำถามตามมามากมาย

คำถามหนึ่งที่พี่น้องประชาชนถามผ่านผมมา คือ เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ

ทราบความยากอย่างยิ่ง ในการบริหารจัดการของรัฐ

บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดก็เข้าทาง พยายามใช้การเมืองนำอย่างเดียวก็เข้าทาง

และเพราะทราบความยากยิ่ง ในการบริหารจัดการเช่นนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องหารือผ่านท่านประธาน ไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้ท่านใช้  “ตัวช่วย” ตามระบบการเมือง ที่มีอยู่ดำเนินมาตรการทางการเมือง

คำนูณ

ด้วยความรู้ความคิด และกำลังสติปัญญาอันจำกัด ผมเห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินมาตรการทางการเมือง ด้วยการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็วที่สุด

แม้พวกเราสมาชิกทั้ง 2 สภา จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย แตกต่างกัน กระทั่งอาจตรงกันข้ามกันในบางส่วน  แต่เชื่อว่าพวกเราสมาชิกทั้ง 2 สภา มีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งว่า การกระทำบางอย่างของ ผู้ชุมนุมบางคน เกินขอบเขต ที่ควรจะเป็นไปไกลมาก ทำให้ข้อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติส่วนใหญ่ต้องเสียไป และสุ่มเสี่ยงจะเป็น การจุดชนวนความรุนแรงอย่างถึงที่สุดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

อันจะเป็นการสร้างบาดแผลลีก ส่งต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญมหาวิกฤติ ทางเศรษฐกิจโลกรุนแรงระดับ 100 ปี จะเกิดสักครั้งอยู่ขณะนี้ จะยิ่งซ้ำเติม ให้ประเทศจมดิ่งลง สู่หุบเหวแห่งหายนะ

สรุปคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้นไม่พอ ต้องดำเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย

รัฐสภาควรจะเป็นเวทีหาทางออกให้บ้านเมือง

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า “หกตุลาภาคสอง” ขึ้นมาในเร็ว ๆ นี้

และหากถึงวันนั้น หากรัฐสภายังคงอยู่ หากรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ การขอเปิดอภิปรายทั่วไป ในรัฐสภา ตามมาตรา 165 ก็จะเป็นทางเลือก ที่ต้องเกิดขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้น หลังเหตุรุนแรงในปี 2552 และ 2553 แล่วทำไมต้องรอถึงวันนั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo