General

‘เด็กไทยในโลกสีเทา’ ปีละ 3 หมื่นคน สสส. แนะ ‘ฟังเสียงเด็ก’ ลดปัญหา

เด็กไทยในโลกสีเทา พบปัญหาปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ทั้งปัญหาในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว ยาเสพติด ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร รังแกกันในโลกออนไลน์

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน และชุติมา ชุมพงศ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัญหา เด็กไทยในโลกสีเทา ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชต หรือเครือข่ายทางสังคมออนไลน์อื่นๆ

เด็กไทยในโลกสีเทา

ทั้งนี้ มีทั้งการใช้เพื่อโจมตี ขู่ทำร้าย หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์ การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่นที่ส่งผลต่อผู้ถูกกระทำ ทั้งทำให้อับอาย หวาดกลัว หดหู่ โดดเดี่ยว ท้อแท้ สิ้นหวัง ทำร้ายตัวเอง และอาจรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

“โลกที่น่าอยู่ ที่เหมาะสมแก่การพัฒนาของเด็กและเยาวชนได้มลายหายไป เราที่เป็นผู้ใหญ่จะมีวิธีการอย่างไรที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชน อาศัยอยู่ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้”สมพงษ์ กล่าว

สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์วิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งการลงพื้นที่ติดตาม การรวบรวมสภาวการณ์ทั้งการพัฒนาเครือข่าย (Node) กลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งเกาะติดกับพื้นที่

ทั้งนี้ จะเน้นนำกระบวนการ design thinking ไปใช้ออกแบบนวัตกรรมทางสังคม การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล โดยมุ่งให้แกนนำเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันตนเอง รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และสามารถประยุกต์ใช้ องค์ความรู้ในประเด็นเหล่านี้เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตนเอง และต่อการผลิตสื่อสู่สาธารณะได้ รวมถึงวิธีการเขียนโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนกับองค์กรภายนอก

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการทำวิจัยระยะสั้นให้อาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ เพิ่มพื้นที่การนำเสนองานวิจัย รวมทั้งสร้างแนวปฏิบัติการเชิงรุก ในการแก้ไขประเด็นปัญหา ด้านเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง โดยตั้งต้นจากการใช้งานวิจัยเป็นฐาน เพื่อให้ลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้น้อยลงหรือป้องกันไม่ให้เกิดมากไปกว่านี้

backpack 1149461 1280

โครงการที่ทางศูนย์ สนับสนุนเพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ได้แก่

1. โครงการวิจัยแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชน ในกระบวนการยุติธรรม โดย รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นโครงการที่นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือก สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากแนวทางพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในรูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมกับเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ตามศักยภาพ ความถนัดและความสนใจของเด็กและเยาวชนในกลุ่มนี้

หลักสูตรการเรียนรู้ยังแข็งตัวกับระบบกระแสหลัก จึงได้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือก การจัดการศึกษาบนฐานกิจกรรมหรือกลุ่มประสบการณ์ (Project Based) เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาภาคบังคับ อาชีพ ทักษะความสามารถ ทักษะชีวิต วุฒิภาวะ และคุณธรรมจริยธรรม

2. โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ พลเมืองเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดย ดร.อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

เป็นงานวิจัยที่ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) มุ่งพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่เข้ามีส่วนร่วมในการวิจัย สร้างและพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้เชิงเครือข่าย เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองเด็กและเยาวชน รู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของงานวิจัยนี้ เนื่องจากในปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกนั้น เด็กและเยาวชนใช้เวลาหน้าจอกับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 6 ชั่วโมงหรือมากกว่า 1 ใน 4 ของแต่ละวัน ภูมิทัศน์การเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนไปพร้อมกับภูมิทัศน์สื่อ แต่ภูมิทัศน์ในการจัดการเรียนการสอนของครู รวมถึงการเรียนรู้ของเด็กในระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยน

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษาของเด็กในเมืองและชนบท ส่งผลต่อการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล จึงเกิดการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ สร้างคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล

เด็ก1

3. โครงการวิจัยพฤติกรรมเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ในมุมมองของวัยรุ่นในจังหวัดนครพนม โดย ดร.สุรชัย เฉนียง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม

งานวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษารับรู้เกี่ยวกับสาเหตุ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงการฆ่าตัวตายและความต้องการรูปแบบวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตาย ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม

เนื่องจากปัจจุบันเด็กและเยาวชนต้องอยู่ท่ามกลางสังคมที่ถูกกดดันจากครอบครัว โรงเรียน สังคม และความคาดหวังของตนเอง ต้องเรียนให้ได้เกรด 4 สอบเข้าคณะสายสุขภาพ ระหว่างเรียนต้องไม่มีความรัก ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการกับเครียดของตนเองได้ เนื่องจากขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จึงหาทางออกด้วยการไปพึ่งพาสารเสพติดและที่รุนแรงไปกว่านั้นคือภาวะซึมเศร้า การพยายามทำร้ายตนเองหรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะครู บุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้ สารเทศ ที่ได้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนต่อไป

งานวิจัยทั้ง 3 เรื่องล้วนแล้วแต่สะท้อนวิกฤตโอกาสโลกสีเทาที่รอบล้อมตัวเด็ก ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ ความรุนแรง การล้อเลียนทางสื่อ การกดทับอำนาจนิยม ภาวะไร้สร้างสรรค์ของการสร้างพลเมืองและอื่น ๆ ดังนั้นจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกของเด็กและเยาวชนนั้น ซ้ำซ้อนเกินกว่าที่จะมีเพียงหน่วยงานเดียว หรือบางหน่วยงานที่จะช่วยแก้ปัญหาได้

ดังนั้น องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนต้องช่วยกัน เพื่อหาทางแก้ไขหรือป้องกันการเกิดปัญหา บูรณาการการทำงานแบบเบญจภาคี เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชน โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน ต่อยอดข้อเสนอวิจัยจากในพื้นที่สู่การขับเคลื่อนในระดับตำบล จังหวัด สู่ประเทศ สร้างพื้นที่การทำงานภายใต้วัฒนธรรมใหม่

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การฟังเสียงเด็กเป็นสำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นการลดปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ และโลกแห่งการพัฒนาของเด็กและเยาวชนที่มีสีสันจะกลับมาอย่างแน่นอน

ที่มา : สสส.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo