Politics

‘ศรีสุวรรณ’ ชี้ คำสั่งอัยการกรณีไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

คดี บอส อยู่วิทยา “ศรีสุวรรณ จรรยา” ชี้ คำสั่งอัยการกรณีไม่ฟ้อง ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ยกคดี “เสี่ยเบนซ์” เมาชน “รอง ผกก.เสียชีวิต” อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุด

นาย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “นายวราวุธ อยู่วิทยา” หรือ บอส ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว และดำเนินการเพิกถอนหมายจับต่อไปนั้น

คดี บอส อยู่วิทยา

คดีดังกล่าว ถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงการใช้อำนาจที่อาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ ในการสั่งคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเพราะผู้ถูกกล่าวหา เป็นทายาทของผู้มีสถานะทางสังคมที่สูง เป็นทายาทนักธุรกิจที่ร่ำรวยในลำดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งเหตุแห่งคดี ไม่ได้มีข้อยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น คดีเสี่ยเบนซ์เมาชน รอง ผกก.เสียชีวิต อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุด แม้จำเลยจะชดใช้ดูแลบุตรผู้ตายแล้ว 45 ล้านก็ตาม แต่ทว่าคดีที่ผู้ตายมียศเพียงแค่ดาบตำรวจ ผลการสั่งคดีกลับแตกต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้แทกติกในการทำสำนวนคดี หรือ ประวิงเวลา

แต่เมื่อมีการประวิงเวลา จนทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปยังต่างประเทศ และตำรวจไม่สามารถนำตัวมาส่งให้อัยการ ยื่นฟ้องต่อศาลได้ ทำให้ฐานความผิดอย่างน้อย 4 ข้อหาขาดอายุความไปแล้ว

ส่วนข้อหาสุดท้าย คือ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี อัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และตำรวจก็มิได้ทำความเห็นแย้งคัดค้านแต่อย่างใด จึงถือเป็นข้อพิรุธที่สำคัญ ที่นายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจตาม ม.11(6) แห่งพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ในการตั้งกรรมการมาสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะอ้างว่านายกฯ ไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการแล้ว จะสั่งให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการมิได้นั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่

แต่ประเด็นการสั่งคดีนี้ของอัยการนั้น แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดี แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง แต่การประวิงเวลาการสั่งคดีมาจนกว่า 8 ปีย่อมถือได้ว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว

อีกทั้งตาม พรบ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ม.21 วรรคสอง ประกอบระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 กำหนดให้อัยการต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน และระเบียบฯ ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือ จะมีผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ 2554 ได้กำหนดไว้ว่า คดีอาญาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อมีคำสั่ง

“กรณีของบอส อยู่วิทยา ความปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด จึงชี้ให้เห็นว่า คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว” นายศรีสุวรรณ ระบุ

คดี บอส อยู่วิทยา

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า เรื่องอัยการสั่งไม่ฟ้อง “นายวรวุทธ อยู่วิทยา”

เรื่องอัยการไม่ฟ้อง “ลูกกระทิงแดง” นี่ อัยการสรุปว่า เป็นความประมาทของตำรวจ (ผู้ตาย) เพียงฝ่ายเดียว เพราะตำรวจ (ผู้ตาย) ขับรถจักรยานยนต์ ตัดหน้ารถยนต์ลูกกระทิงแดงอย่างกระทันหัน ตอนแรกอัยการสั่งฟ้อง แต่หลังจากพิจารณามานานถึง 8 ปี ก็กลับคำสั่งเดิมเป็น “สั่งไม่ฟ้อง”

ด้วยเหตุผล หลักๆ คือ เหตุที่สั่งฟ้องในตอนแรกเพราะ พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วให้การว่า ลูกกระทิงแดงขับรถด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. แต่หลังจากนั้น เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น ได้ให้การใหม่เมื่อ 2 มีนาคม 2557 ว่า ได้คำนวณใหม่แล้ว ความเร็วรถลดลงเหลือเพียง 79 กม./ชม.

และได้มี พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียน, พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย และ รศ.ดร.ลายประสิทธิ เกิดนิยม (ให้การเมื่อ 23 มกราคม 2560 หลังเกิดเหตุถึง 5 ปี) ว่า รถยนต์ของนายวรวุทธ อยู่วิทยา ไม่น่าจะขับ 177กม./ชม. แต่น่าจะขับเพียง 76 กม./ชม.

จะเห็นว่า เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ความเร็วของรถลดลงประมาณ 100 กม./ชม. เหลือเพียง 76 กม./ชม. และอัยการก็เชื่อตามนั้น

ผมมีข้อโต้แย้ง (ทางวิชาการ) ต่อคำสั่งของอัยการ ดังต่อไปนี้

ข้อโต้แย้งประการที่ 1 ผมไม่เชื่อความเห็นของพยานที่ให้การกลับคำในภายหลัง และไม่เชื่อคำให้การของพยาน ที่ให้การหลังเกิดเหตุหลายปี ที่ให้การแตกต่างกันในเรื่องความเร็วรถถึง 100 กม./ชม. ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง มาพิสูจน์ว่า ความเร็วรถ ว่าน่าจะ 177 กม./ชม หรือ 76 กม./ชม. หากเป็น 177 กม./ชม. พยานที่ให้การในตอนหลังว่า 76 กม./ชม. ก็น่าจะมีปัญหาแล้วล่ะครับ

ตอนนี้น่าจะครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ไอ ก็จาม อยู่ล่ะครับ ประการสำคัญคือ ใน กทม. เขาจำกัดความเร็วรถยนต์ไม่เกิน 80 กม/ชม. ที่พยานให้การตอนหลังว่า 76 กม./ชม. จะเป็นการให้การเพื่อให้สอดคล้องกับการจำกัดความเร็วไม่เกิน 80กม./ชม.หรือเปล่า

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 2 ผมเห็นว่า สภาพรถยนต์หลังเกิดเหตุ ยับเยิน กระโปรงหน้ายุบ กระจกหน้าแตก น้ำมันเครื่องไหลเป็นทาง รถยนต์คันนี้ ราคาจำหน่ายในประเทศไทย คันละ 32 ล้านบาท ถ้ารถราคา 32 ล้านชนด้วยความเร็ว 80 กม/ชม. สภาพรถยับเยินขนาดนี้ เสียชื่อผู้ผลิตหมดครับ

ข้อโต้แย้งประการที่ 3 จากจุดชนจุดแรก ถึงจุดที่รถจักรยานยนต์ผู้ตายไปตกอยู่ห่างกัน 163.6 เมตร หากความเร็วรถยนต์ 76 กม./ชม. น่าจะหยุดรถได้เร็วกว่านั้น ไม่น่าจะลากยาวไปถึง 163.6 เมตร

ข้อโต้แย้งประการที่ 4 ผมไม่ให้น้ำหนักพยานบุคคลอีก 2 คน ที่มาให้การเมื่อ 4 ธันวาคม 2562 หลังเกิดเหตุถึง 7 ปี ว่า พยานขับรถตามหลังรถลูกกระทิงแดง และเห็นว่า ลูกกระทิงแดงขับไม่เกิน 80 กม/ชม.

น่าสงสัยว่า พยาน 2 ปากนี้ รออะไรอยู่ถึง 7 ปี จีงเข้าให้การ และเป็นการให้การก่อนที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้องไม่กี่เดือน เป็นพิรุธอย่างยิ่ง ครับ

กล่าวโดยสรุป เรื่องนี้ ต้องทำให้ชัดปราศจากข้อสงสัย ไม่งั้นกระบวนการยุติธรรมของประเทศพังครับ แล้วประเทศจะพังไปด้วยครับ เอาแค่นี้ก่อนนะครับ ค่อยๆอ่าน พักกินกาแฟกันก่อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo