Green Energy

‘NPS’ ก้าวสู่ ‘New Normal’ เดินหน้าธุรกิจ ‘โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่’

“เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)” หรือ NPS  องค์กรธุรกิจชั้นนำด้านพลังงานของไทย มั่นใจสามารถฝ่าฟันอุปสรรค ในช่วงเวลาที่โลก กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัส และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจหลายประเภททั่วโลก และพร้อมที่จะเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง

S 3891279

NPS เป็นบริษัทที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และเป็นองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมด้านพลังงาน ที่เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยตรงแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศด้วย

ภายใต้จุดแข็งในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การผลิตทั้งไฟฟ้า และการผลิตเอทานอล ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้มันสำปะหลัง มันเส้น กากน้ำตาล และน้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบได้ ทำให้ NPS สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีกำไรสุทธิปี 2562  สูงกว่าปี 2561 ถึง 46%

NPS ยังมีโครงสร้างธุรกิจที่เข้มแข็ง และมีฐานลูกค้าที่มั่นคง จากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และมีแผนขยายงานอย่างต่อเนื่อง แนวทางที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และในระยะยาว

แม้ในปี 2563 ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ ของ NPS จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่บ้าง  แต่ ธุรกิจเอทานอล กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายแอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ประกอบกับการที่ โรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับสูตรราคาค่าไฟฟ้า ที่ขายให้ กฟผ. เป็นแบบ Feed-in Tariff ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ทำให้ทั้ง 3 ธุรกิจหลักของ NPS ยังคงประสิทธิภาพที่ดี และรักษาระดับการเติบโตของผลประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการผ่อนชำระหนี้ตามแผนงานที่วางไว้

นอกจากนี้ NPS ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ ที่จะพิจารณาให้สินเชื่อระยะยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นกู้จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่อาจมีต่อผู้ออกหุ้นกู้อีกด้วย

สำหรับการขยายธุรกิจระยะต่อไปนั้น  NPS มีแผนร่วมลงทุนกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) ในสัดส่วน 65 : 35  ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 560 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 23,000 ล้านบาท ซึ่ง NPS ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว โดยทั้งสองสัญญามีระยะเวลา 25 ปี  โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568  และเปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในปี 2570

NPS ยังมีแผนเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งแบบทั่วไปและแบบ Quick Win ภายในปีนี้  ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภท รวม 700 เมกะวัตต์

ทั้งนี้  NPS เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมพลังงาน ปัจจุบันมีโครงสร้างธุรกิจครอบคลุมใน 3 ด้านได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ขนาด 726 เมกะวัตต์ ธุรกิจผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และ ธุรกิจผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน โดยธุรกิจพลังงานทดแทนยังคงได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุน และจากผู้ประกอบการ เพราะเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่มีการเติบโตที่ดี

ด้วยศักยภาพของ NPS ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศมีประสบการณ์กว่า 25 ปี โดยมี 3 ธุรกิจหลักที่จะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันเป็นการกระจายความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพของรายได้

นักวิเคราะห์ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษและมองว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ส่วนจะประสบความสำเร็จ และมีผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการประกอบกันไปด้วย

Avatar photo