Environmental Sustainability

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 63 ‘โควิด-19’ ไม่ได้ช่วยธรรมชาติดีขึ้น

วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เกิดขึ้นจากความกังวล และความตื่นตัวถึงวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ในการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีรัฐบาลสวีเดนเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน 2515 ที่กรุงสตอกโฮลม์นั้น ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีมากกว่า 1,300 คน จาก 113 ประเทศ ได้เห็นพ้องในข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

วันสิ่งแวดล้อมโลก

รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังได้นำข้อตกลงจากการประชุมครั้งนี้ ที่เรียกกันว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ “UN Conference on the Human Environment” ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน   ทำให้เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือของหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก

ขณะที่ในไทยนั้น ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2518 และปรับโครงสร้างในปี 2535  โดยมี 3 หน่วยงานร่วมกันทำงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

กิจกรรม วันสิ่งแวดล้อมโลก

แต่ละประเทศจัดกิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อมโลกแตกต่างกัน แต่เป้าหมายหลักก็คือ เพื่อรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต (Biodiversity) ของท้องถิ่นนั้นให้ดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ดิน, น้ำ, อากาศ ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารของชีวิต ต้องดูแลให้ปลอดภัย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

แต่ละปี จะมีวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมให้รำลึกถึงสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน โดยในปี  2563 นี้เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดสถานที่ท่องเที่ยวตามอุทยานต่างๆ ด้วย จึงเป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติทั่วโลกได้ฟื้นฟูเต็มที่

ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ความสำคัญของวันสิ่งแวดล้อมโลกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ก็มักจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะท้องถิ่นตัวเอง ดังนี้

  • จัดนิทรรศการให้ความรู้
  • จัดเสวนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
  • กิจกรรมปลูกต้นไม้
  • กิจกรรมดูแลชายหาด
  • ปลูกปะการัง

วันสิ่งแวดล้อมโลก

โควิด-19 ไม่ช่วยธรรมชาติดีขึ้น

ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้กิจกรรมที่มักจัดขึ้นในวันนี้ เพื่อรณรงค์ให้คนตระหนักถึงภาวะแวดล้อมที่กำลังตกอยู่ในขั้นวิกฤตินั้น เบาบางลงไปอย่างมาก จากมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาด ที่ทำให้ไม่สามารถจัดงานที่เกิดการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากได้

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายประเทศทั่วโลก ประกาศ “ล็อกดาวน์” ปิดตายเมือง หรือประเทศ จนทำให้กิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ของมนุษย์แทบจะหยุดนิ่งไปนั้น หลายคน หลายฝ่าย พากันออกมาโชว์ภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ป่าที่พากันออกมาเดินตามที่ต่างๆ ลูกเต่าจำนวนมากที่กำลังลงสู่ทะเล น้ำทะเลใสแจ๋ว หรือคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น พร้อมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า โควิด-19 ช่วยทำให้ธรรมชาติคืนชีพ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน  ผู้อำนวยการ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงและคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ในช่วงเวลาที่รัฐบาลของหลายประเทศกำลังรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19  ไม่ควรถูกมองว่า “เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม”

“ขณะที่เรากำลังขยับจากการรับมือ ภาวะสงคราม’ ไปเป็น ‘การสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม’ (Build Back Better) เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจสัญญาณต่างๆ ของสิ่งแวดล้อม และรู้ว่ามันจะส่งผลต่ออนาคตและคุณภาพชีวิตของเราอย่างไร เพราะโควิด-19 อย่างไรก็ไม่ใช่ เรื่องดีสำหรับสิ่งแวดล้อม”

วันสิ่งแวดล้อมโลก
อิงเกอร์ แอนเดอเซน

แอนเดอร์เซน เตือนด้วยว่า ผลที่มองเห็นได้ในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ล้วนเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว เพราะเกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันน่าเศร้า และความทุกข์ยากของมนุษย์โลก

“การระบาดใหญ่จะส่งผลให้ปริมาณขยะทางการแพทย์และของเสียอันตรายเพิ่มพูนมากขึ้น นี่ไม่ใช่รูปแบบของการตอบสนองทางสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่สำหรับนักสิ่งแวดล้อม

ในความเป็นจริงแล้ว สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์ (Scripps Institution of Oceanography) ย้ำว่า ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นจะต้องลดลงประมาณ 10% ทั่วโลก และจะต้องต่อเนื่องนานหนึ่งปี กว่าจะเห็นถึงระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชัดเจน

“ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่ครั้งนี้ ต้องเป็นสิ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต และการบริโภคของเรา ให้สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

“การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในระยะยาวเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนแนวโน้มของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้”

ผู้อำนวยการ UNEP บอกด้วยว่า หลังจากวิกฤติครั้งนี้ ในช่วงที่ประเทศต่างๆ วางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีโอกาสอย่างแท้จริงที่จะรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการลงทุนในพลังงานทดแทน อาคารอัจฉริยะ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการขนส่งสาธารณะ

“เสาหลักที่สำคัญประการหนึ่ง ในแผนฟื้นฟูหลังผ่านพ้นโรคโควิด-19 จะต้องมาพร้อมกับกรอบการวางแผนที่กระตือรือร้น สามารถวัดผลได้ และไม่แบ่งแยก เพราะการรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ หลากหลาย และงอกงามนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ทำให้ชีวิตของเราดำเนินต่อไปได้”

Avatar photo