Economics

สื่อโลกเกาะติด ‘การบินไทย’ ระบุ ‘การเมืองแทรกแซง’ ทำกิจการล่ม

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทรุดหนักของอุตสาหกรรมสายการบินโลก ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และหนักหน่วงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อต่างชาติ และพากันเกาะติดรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบินไทย302 1

เอเชีย ไทมส์ รายงานอ้างการแสดงความเห็นของนายลูซี แมทซิก ผู้อำนวยการบริษัท เอเชีย เทรลส์ และ วีไอพี เจ็ตส์ ที่บอกว่า ครั้งหนึ่งการบินไทยเคยเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพอย่างมาก มีการบริการจัดการอย่างเหมาะสม และมีคนรับผิดชอบอย่างชัดเจน

“ปัญหาของการบินไทยคือ ไม่มีคนที่รับผิดชอบอย่างแท้จริงอีกต่อไป”

ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับนักวิจารณ์หลายราย ที่บอกว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการบินไทย คือ มีคนที่เข้ามาดูแลมากเกินไป แต่กลับมีคนที่รู้เรื่องอุตสาหกรรมการบินไม่มากพอ

เอเชีย ไทมส์ บอกด้วยว่า ในอดีตนั้น การเป็นกิจการของรัฐทำให้การบินไทยมักจะถูกการเมืองเข้าแทรกแซง โดยกระทรวงคมนาคม และกองทัพอากาศ มักจะเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดบริหาร อย่างเช่น บอร์ดชุดปัจจุบัน มีนายทหารจากกองทัพอากาศรวมอยู่ด้วย 3 คน และมีพลเรือน 5 คน

“กองทัพอากาศไม่เคยต้องทำกำไร ดังนั้น คนของกองทัพเลยไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการขาดทุน” แมทซิก ระบุ

ขณะที่นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์จากบลจ. ยูโอบี เคเฮียนที่ว่า การบินไทยจะอยู่รอดไม่ได้ หากไม่แก้ปัญหาสภาพคล่อง ด้วยการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ และแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน เพื่อเปิดทางให้การบริหารจัดการทำได้คล่องแคล่วว่องไวมากกว่านี้

ทางด้านซีเอ็นเอ็น ระบุว่า การบินไทย ถือเป็นสายการบินขนาดใหญ่รายล่าสุด ที่เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้สายการบินทั่วโลกต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก และให้พนักงานหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง

ส่วนรอยเตอร์รายงานว่า ปัญหาของการบินไทยเป็นตัวอย่างล่าสุด ที่ทำให้เห็นว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินโลกอย่างสาหัส แต่ระบุด้วยว่า ปัญหาของการบินไทย เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว

Avatar photo