Sme

โคโค่เมล่อนฟาร์ม‘เกษตรยุคใหม่’ต้อง IoT

แนวโน้มความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต มุ่งพัฒนา “เกษตรกร” สู่ Smart Farmer เพื่อเพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมกับการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดสัมมนา Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมเกษตร

หนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการ “เกษตรยุคใหม่” ที่ก้าวสู่ “เกษตรเงินล้าน” ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผล คือ “โคโค่เมล่อนฟาร์ม”

ณัฐ มั่นคง ผู้บริหาร โคโค่เมล่อนฟาร์ม
ณัฐ มั่นคง ผู้บริหาร โคโค่เมล่อนฟาร์ม

ณัฐ มั่นคง ผู้บริหาร โคโค่เมล่อนฟาร์ม เล่าว่าจากความต้องการทำงานด้านเกษตกร บนที่ดินของครอบครัวที่มีจำนวนไม่มาก เขาจึงเริ่มศึกษาพืชชนิดต่าง ๆ ที่จะสร้างมูลค่าให้สามารถทำธุรกิจและหารายได้เลี้ยงตัวเอง บนพื้นดินที่มีไม่มาก จึงเลือกทำการเกษตรปลูก “เมล่อน”  บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

หลังจากปลูกเมล่อน จึงเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร ทั้งการให้น้ำ ให้ปุ๋ย การควบคุมแสงแดด เพราะ เมล่อน เป็นพืชที่ชอบอากาศคงที่ การปลูกจึงต้องให้ความสำคัญกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม

จากการที่ต้องการควบคุมสภาพอากาศและความชื้น เพื่อให้ได้เมล่อน ที่มีมาตรฐานทั้งความหวานและขนาดผลที่พอเหมาะสำหรับการจำหน่าย ทำให้สนใจเทคโนโลยี  Internet Of Things (IoT) ที่นำมาใช้ในการควบคุมการปลูกเมล่อน  โดยนำเครื่องมือ IoT ไปติดตั้งในโรงเรือน เพื่อดูอุณหภูมิ ความชื้น  และปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม

coco dtac

นอกจากจากนี้ยังสามารถปลูกเมล่อน ด้วยวิธีควบคุมขนาด เพื่อให้มีน้ำหนักและไซส์ที่เหมาะสมกับการจำหน่ายในร้านค้าปลีก ซึ่งไซส์ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ลูกละ 1.3-1.8 กิโลกรัม เพราะราคาต่อลูกจะไม่เกิน 300 บาท ทำให้ผู้บริโภค ควักกระเป๋าจ่ายเงินได้ง่ายและรู้สึกไม่แพงเกินไป

การกำหนดผลผลิตและขนาดเมล่อนที่เหมาะสมยังทำให้สามารถเจาะตลาดของขวัญ-ของพรีเมียมได้อีกทาง โดยสามารถนำเมล่อนมาจัดเป็นกระเช้าของขวัญของชำร่วย โดยกลุ่มที่ต้องการจัดกระเช้าเมล่อน นิยมที่ขนาดลูกละ 1.3-1.5 กิโลกรัม

โคโค่เมล่อนฟาร์ม

ณัฐ บอกว่าการกำหนดไซส์เมล่อนให้มีขนาดตามความต้องการได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจการควบคุมแสง ความชื้น และปริมาณน้ำ ซึ่งเรียนรู้จากการเก็บข้อมูลจากเทคโนโลยีไอโอที ที่ติดตั้งไว้ในโรงเรือน

โดยเมล่อน จะต้องมีใบจำนวน 20-28 ใบ ในการสังเคราะห์แสง ซึ่งแต่ละฤดูจะมีปริมาณแสงแตกต่างกัน ดังนั้นปริมาณน้ำที่ให้เมล่อน จะต้องให้น้ำ ปุ๋ย อาหารเสริม และระยะเวลาปลูก แตกต่างกันด้วย เพื่อให้ได้ไซส์และความหวานของเมล่อนตามที่ต้องการ

การนำเทคโนโลยีไอโอทีมาใช้ เป็นการก้าวสู่การยุค “เกษตรแม่นยำ” เพื่อเข้าใจพืชแต่ละชนิด ซึ่งเป็นใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการทำซ้ำ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แม่นยำขึ้น และช่วยทำให้ผลผลิตพืชผลเกษตร มีมาตรฐานเดียวกัน มีปริมาณการผลิตตามความต้องการ

โคโค่เมล่อนฟาร์ม

เชื่อว่าไม่เกิน 2-4 ปีนับจากนี้ เกษตรกรไทยจะคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ จะมีราคาลูกลงเรื่อย ๆ  และเกษตรกรไทยจะเข้าถึงการใช้เครื่องมือดังกล่าว  เช่นเดียวกับการใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนของคนทั่วไปในยุคนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ที่จะส่งผลดีต่อเกษตรกรยุคใหม่!!

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก โคโค่เมล่อนฟาร์ม

Avatar photo