COVID-19

เตือนภัย!! หน้าฝนระวัง ‘ไข้หวัดใหญ่’ ติดซ้ำ ‘โควิด’ เสี่ยงสูงเสียชีวิต

สถาบันบำราศนราดูร เตือนหน้าฝน ระวังไข้หวัดใหญ่ ซ้ำโควิด-19 ชี้ถ้าเป็นทั้งสองโรค รุนแรงหนัก

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “ความร้ายแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ ในภาวะการระบาดของโควิด-19” ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ที่มักระบาดในหน้าฝน ซึ่งมีความน่ากังวลเพราะมาในช่วงที่มีการการแพร่ระบาดของโควิด-19

โควิด

นอกจากนี้ อาการของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก คือมีอาการไข้ 38-40 องศา ไอ ปวดศีรษะเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนเพลีย  แต่ก็มีอาการที่แตกต่างกันเล็กน้อยคือ น้ำมูก เพราะโควิด-19 จะมีน้ำมูกไม่เยอะ ซึ่งยังต้องอาศัยการเช็คประวัติและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และยังมีการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นเมื่อมีการไอหรือจาม การสัมผัสทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้มีความสามารถในแพร่การเชื้อจาก 1 คนไปสู่ 2 คน

ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตของไข้หวัดใหญ่ในทั่วโลกอยู่ที่ 1-2% โดยสถิติย้อนหลังไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยย้อนหลัง 5 ปี พบว่าทั้งในปี 2561-2562 จะพบว่าช่วงที่เป็นไข้หวัดใหญ่มากสุดในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน และในปี 2563 ที่มีการสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สูงในเดือนมกราคม และลดลงมาในเดือนเมษายน

ไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ จะเห็นว่าในไทยที่มีผู้เป็นไข้หวัดใหญ่สูงกว่าโควิด-19 ถึง 33 เท่า เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกคนมีความใส่ใจในการดูแลป้องกัน และให้ความสนใจในเฝ้าระวัง การคัดกรองโรค รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ดังนั้นโควิด-19 อาจจะระบาดขึ้นอีกในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งที่ควรต้องระวังคือการติดเชื้อร่วมกันทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19

ขณะที่ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนที่ติดโควิด-19 มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสอื่นได้ถึง 20% ส่วนข้อมูลจากประเทศจีน พบว่าประมาณ 80% มีโอกาสติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ โดยสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้ถึง 60% ซึ่งการติดเชื้อซ้ำ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55%

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

“ทางสถาบันฯ ก็เจอเคสที่มีอาการใกล้คล้ายกับไข้หวัดใหญ่มาตรวจโควิด-19 และตรวจเจอเคสที่เป็นการติดเชื้อร่วม คือเป็นทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ซึ่งต้องมีการรักษาและใช้ยาทั้ง 2 โรคพร้อมกัน ให้เร็วที่สุด เพราะคนไข้อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นไข้หวัดใหญ่ อาทิ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่จะมีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และกลุ่มบุคคากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่างกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นถึง 26 เท่า

เหมือนโควิด

ด้านวิธีจัดการกับไข้หวัดใหญ่ แบ่งเป็น 1. การป้องกันก่อนเกิดเหตุ คือการการรักษาสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ที่เหมือนกับการป้องกันโควิด-19 และฉีควัคซีนประจำปีที่มี 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ แต่การฉีดวัคซีนอาจจะป้องกันได้ประมาณ 40-60% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่และ 2. การรับยาต้านไวรัส เพราะสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย บรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ และลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่คนรอบข้าง

นพ.วีรวัฒน์กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ของทางสถาบันฯ พบว่า ดีขึ้น จากที่มีผู้ป่วยเข้ามารักษาจำนวน 214 ราย รักษาหายหมดแล้ว เหลือเพียง 1 ราย ที่อยู่ในระยะพักฟื้น ซึ่งในภาพรวมของประเทศสถานการณ์ของคนไข้โควิด-19 ก็เป็นในทิศทางที่ดีขึ้นในผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในเฟสแรก แต่ทั้งนี้ก็ต้องคอยจับตาดูในเฟสที่ 2 เพราะไทยเข้าสู่ฤดูฝนพอดี ซึ่งการคลายล็อคในส่วนต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งได้ จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

Avatar photo