Business

‘BTS’ ลุยติดอุปกรณ์กรองคลื่น ป้องกันสัญญาณ 5G ก่อกวนรถไฟฟ้า

“กรมรางฯ” ถก “กสทช” ป้องกันสัญญาณ 5G รบกวนรถไฟฟ้า “BTS” ลุยติดตั้งฟิลเตอร์สายสีเขียวให้ครบภายในเดือน พ.ค. ด้านสายสีม่วงต้องทดสอบระบบเรียกความมั่นใจ

S 1523903

นายสรพงศ์  ไพฑูรย์พงษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยหลังหารือเรื่องผลกระทบจากคลื่นความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ 2500 – 2690 เมกะเฮิรตซ์ (5G) ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันนี้ (25 ก.พ.) ว่า

สืบเนื่องจากที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการประมูลคลื่นความถี่ 5G ซึ่งมีย่านความถี่ที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ในระบบเดินรถไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สายสีเขียวและสายสีม่วง ที่ใช้ย่านความถี่ 2405-2495 เมกะเฮิรตซ์และมีการใช้งานมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเวลา 07.00 – 09.30 น.และ 16.30 – 20.00 น. ซึ่งมีความถี่ในการเดินรถทุก 2.5 – 3 นาที คลื่นความถี่ 5G ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเดินรถไฟฟ้า

unnamed

กรมรางฯ ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบงานด้านระบบรางของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 5G จึงกำหนดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน 4 ข้อ  ดังนี้

  • ที่ประชุมมีเจตจำนงร่วมกันในการดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาคลื่นความถี่รบกวนที่จะมีผลต่อการให้บริการระบบรถไฟฟ้าต่อประชาชน
  • กรมรางฯ และ กสทช. พร้อมร่วมมือกัน โดย กสทช. จะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ความร่วมมือในการลดผลกระทบต่อระบบการเดินรถไฟฟ้า
  • กรมรางฯ จะประสานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ในการเร่งดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่น (Filter) โดยอุปกรณ์ชุดแรกจะมาภายในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อทดสอบการกรองคลื่นและจะติดตั้งแล้วเสร็จครบทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยจะประสานกับ กสทช. ในการออกแบบ Filter ให้มีความคมชัดและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
  • ขอความร่วมมือ กสทช. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อร่วมทดสอบกับระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินรถในอนาคต

 

Avatar photo