World News

ญี่ปุ่นนำหน้าจีนลงทุนสตาร์ทอัพต่างแดน

sttrt

นักลงทุนญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาอยู่เหนือคู่แข่งจีน ด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพเอเชีย นอกบ้านเกิด แม้ว่ากำลังถูกอีกฝ่ายหนึ่งไล่ตามมาติดๆ ก็ตาม

รายงานของเทค อิน เอเชีย แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ที่มุ่งเน้นด้านสตาร์ทอัพ แสดงให้เห็นว่า เมื่อปี 2560 กองทุน และบริษัทญี่ปุ่น เข้าลงทุนในสตาร์ทอัพเอเชียจำนวน 99 แห่ง เทียบกับนักลงทุนจีนที่ 64 แห่ง โดยตัวเลขนี้ เพิ่มขึ้นมาจากจำนวน 94 และ 60 แห่ง ในปีก่อนหน้านั้น

startup1

ในแง่ของมูลค่าการลงทุนนั้น นักลงทุนญี่ปุ่นอัดฉีดเงินลงทุนเข้าไปยังสตาร์ทอัพกลุ่มนี้จำนวน 16,800 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากจำนวน 10,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2559 สูงกว่านักลงทุนจีน ที่เข้าลงทุนจำนวน 16,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 2,900 ล้านดอลลาร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป และวิชั่น ฟันด์ ของทุนมูลค่าเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัท เป็นแกนนำการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพของฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งการที่ซอฟท์แบงก์ เข้าลงทุนในตีตี้ ชูซิง ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันเรียกรถรับส่งสัญชาติจีน เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนจากญีปุ่นในปี 2560 ทะยานสูงขึ้นอย่างมาก

บริษัทเทคโนโลยีรายนี้ ยังเข้าลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ในบริษัทลูกของตีตี้ที่อินเดีย และคู่แข่งของตีตี้ อย่าง โอลา และแกร็บ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้ว การลงทุนจำนวนมหาศาลดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น โดยราว 71% ของการลงทุนในสตาร์ทอัพของนักลงทุนญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วนั้น มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์ เทียบกับนักลงทุนจีนที่ 38% สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ รวมถึง ราคูเท็น ยาฮู เจแปน และไซเบอร์เอเจนท์ ที่ล้วนแต่มีหน่วยงานด้านการลงทุนเงินทุนของตัวเอง เลือกที่จะมีส่วนร่วมในสตาร์ทอัพที่มีขนาดเล็ก และเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานนัก

เมื่อเร็วๆ นี้ กิจกรรมการลงทุนของธุรกิจนอกภาคเทคโนโลยี ยังปรับตัวสูงขึ้น และทำให้บริษัทลงทุนด้านเงินทุนหลุดจากตำแหน่งผู้จัดหาเงินทุนหลักให้กับเหล่าสตาร์ทอัพ

startup2

ในปี 2560 อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับเงินอัดฉีดเป็นจำนวนมาก อาทิ สุมิโตโม คอร์ป บริษัทเทรดดิ้งเฮาส์ เข้าร่วมลงทุน 300 ล้านดอลลาร์ ใน โกโกโร ผู้ผลิตรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าไต้หวัน ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ และฮอนด้า มอเตอร์ ก็เข้าไปลงทุนในแกร็บ ผู้นำในตลาดแอพพลิเคชันเรียกรถรับส่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นเอง ก็มองหาโอกาสการลงทุนในต่างแดนเช่นกัน

มันนี ฟอร์เวิร์ด สตาร์ทอัพด้านฟินเทค จัดทำโครงการขึ้นในเดือนมกราคม เพื่อลงทุนในพันธมิตรที่มีศักยภาพ ส่วนหนึ่งของการขยายตัวในตลาดเอเชีย ที่บริษัทตั้งเป้าว่าจะได้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ

กระนั้นก็ตาม ธุรกิจจีนก็ไล่จี้ตามญี่ปุ่นมาอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จีนมีมูลค่าการลงทุนแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ด้วยยอดการลงทุนในสตาร์ทอัพเอเชียนอกบ้านเกิดที่ 3,200 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ บรรดายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีน ภายใต้การนำของอาลีบาบา และเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ ต่างลงทุนมากขึ้นในบ้านเกิด เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น

ข้อมูลของซีบี อินไซท์ บริษัทวิจัยสหรัฐ ยังแสดงให้เห็นว่า การลงทุนของภาคธุรกิจทั่วโลกในด้านนี้ ยังเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยในปีที่แล้ว บริษัทด้านการลงทุนเงินทุนมีการลงทุนใหม่ๆ 180 ราย เพิ่มขึ้น 66% จากปี 2559

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo