Business

‘กรมรางฯ’ เด้งรับนโยบาย Thai First ศึกษาผลิต ‘ประกับรางรถไฟ’ ในประเทศ

“อธิบดีกรมรางฯ” ขานรับนโยบาย Thai First เดินหน้าศึกษาการผลิต “ประกับรางรถไฟ” ในประเทศ หวังกระตุ้นยอดใช้เหล็ก-ยางพารา คาด 6 เดือนได้ข้อสรุป

fig 19 09 2019 07 09 53

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า กรมรางฯ กำลังเร่งผลักดันโครงการ Thai First หรือไทยทำไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวหมอนรองราง (เครื่องประกับราง) ด้วยการใช้วัสดุภายในประเทศ โดยเฉพาะยางพารา ก่อนจะกำหนดเป็นมาตรฐานของไทยต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน

ทั้งนื้ เครื่องประกับรางประกอบด้วยเหล็กและยางพาราเป็นวัสดุหลัก โดยหมอนรองราง 1 ตัว มีเครื่องประกับราง 4 ชุด รวม 4 ตัว ปัจจุบันนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งหมด ราคาเครื่องประกับรางอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,700 บาทต่อชุด โดยเส้นทางรถไฟยาว 1 กิโลเมตรต้องใช้หมอนรองราง 1,660 ตัว หากไทยสามารถผลิตเครื่องประกับรางเองได้ จะช่วยลดต้นทุน และประหยัดงบประมาณการก่อสร้างได้มหาศาล

BBBAA526 9E79 42C7 A994 CB4B341A5CEB

นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ระยะทางประมาณ 1,413 กม. เมื่อคำนวณแล้วต้องใช้หมอนรองราง 1.65 ล้านตัว และเครื่องประกับรางถึง 6.60 ล้านตัว จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ต้องทำให้ได้

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า หากทำเครื่องประกับรางได้เองจะช่วยประหยัดต้นทุนได้เท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะลดต้นทุนได้เท่าไหร่ อย่างน้อยก็ทำให้ได้ใช้ยางพารา และเหล็กในประเทศ รวมทั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศก็จะได้มียอดการผลิตด้วย

Avatar photo