World News

จีนมอง ‘เมียนมา’ ที่มั่นยึด ‘มหาสมุทรอินเดีย’ ยุทธศาสตร์สำคัญ ‘ความมั่นคงพลังงาน’

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีกำหนดที่จะเริ่มต้นการเยือนเมียนมา 2 วัน ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ การเดินทางที่คาดว่าจะช่วยให้กรุงปักกิ่งเพิ่มบทบาทของตัวเองในมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถบรรลุข้อตกลง ในการพัฒนาท่าเรือเจ้าผิว ที่จีนให้เงินทุนสนับสนุน

GettyImages 1182276138

นายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีน ประจำเมียนมา กล่าวก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่า ระหว่างการเยือน 2 วัน ประธานาธิบดีสี จะเข้าร่วมในการลงนามข้อตกลงหลายฉบับ รวมถึง ความเป็นไปได้ในการพูดคุยขั้นสุดท้ายสำหรับข้อตกลงพัฒนาท่าเรือเจ้าผิวมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่มีการเจรจาเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว

หากสามารถปิดฉากข้อตกลงได้ ท่าเรือเจ้าผิว ที่ตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอล จะช่วยให้เชื่อมโยงจีนเข้าถึงการจัดหาน้ำมันจากตะวันออกกลางได้โดยตรง เนื่องจากเจ้าผิวเป็นจุดสิ้นสุดของเครือข่ายท่อส่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่วางยาวไปจนถึงเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

การเชื่อมต่อโดยตรงเช่นนี้ จะทำให้จีนมีเส้นทางที่เป็นทางเลือกสำหรับการนำเข้าน้ำมัน โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ที่เชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดีย เข้ากับทะเลจีนใต้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเสี่ยงในการแข่งขันทางทะเลระหว่างจีนกับอินเดียด้วย

แผนการพัฒนาเจ้าผิว ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการในวงกว้างของจีน ที่จะรุกเข้าไปในเอเชียใต้ ซึ่งจีนได้ลงทุนอย่างหนักในท่าเรือต่างๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย ผ่านโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลอินเดียอย่างมาก

อาร์ชานา อัตมากุรี นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า จีนได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

“โครงการพัฒนาท่าเรือต่างๆ ทั้งในปากีสถาน ศรีลังกา เมียนมา หรือแม้แต่บังคลาเทศ ต่างเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นหลังบ้านของอินเดีย และโครงการเหล่านี้ ก็เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลยุทธ์การปิดล้อมอินเดียด้วย”

เมื่อปี 2558 กลุ่มธุรกิจภายใต้การนำของซิติค บริษัทของรัฐบาลจีน ได้ชนะการประมูลพัฒนาท่าเรือในรัฐยะไข่ ของเมียนมา มูลค่าโครงการราว 7,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2561 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรครัฐบาลเมียนมา ได้หั่นงบโครงการนี้ลงมาเหลือเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลว่าจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้

GettyImages 1182056931

นอกจากให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือในปากีสถาน และศรีลังกาแล้ว เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลจีนยังมอบของขวัญเป็นเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำให้กับบังกลาเทศ หลังจากมอบเรือแบบเดียวกันนี้ให้กับกองทัพเรือศรีลังกาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์ชี้ว่า อินเดียอาจจะทำเป็นปิดตามองไม่เห็นการเดินทางเยือนเมียนมาของผู้นำจีนในครั้งนี้ แต่อินเดียก็มีวิธีของตัวเอง ที่จะเข้าหาเมียนมา

อัตมากุรี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยเธอบอกว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นั้น อินเดียมีความพยายามมากขึ้น ที่จะเก็บเกี่ยวความสัมพันธ์กับบรรดาเพื่อนบ้านในเอเชีย อาทิ การร่วมมือกับญี่ปุ่น พัฒนาเทอร์มินอลสำหรับตู้ขนส่งสินค้าในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา และให้การสนับสนุนโครงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบคาลาดัน ที่ออกแบบมาเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือกัลกัตตา ทางตะวันออกของอินเดีย เข้ากับท่าเรือซิตเว ในรัฐยะไข่ของเมียนมา

เจบิน ยาคอบ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิฟ นาดาร์ ในอินเดีย มองว่า ความตึงเครียดระหว่างอินเดีย กับจีน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคนี้

ขณะที่อัตมากุรี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์บอกว่า การแข่งขันระหว่าง 2 ชาตินี้เข้มข้นขึ้นอย่างมาก จนทำให้ประเทศขนาดเล็กกังวลมากขึ้นว่า อาจจะถูกบีบให้เลือกข้าง

“คำถามอยู่ตรงที่ว่า ประเทศขนาดกลาง และเล็ก จะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร แต่คิดว่า ประเทศเหล่านี้กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในมหาสมุทรอินเดีย”

ทั้งนี้ สี จะกลายเป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่เดินทางเยือนเมียนมา นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ซึ่งระหกว่างการเยือนนั้น คาดว่า เขาจะพบปะกับแกนนำรัฐบาลจำนวนหนึ่ง รวมถึง อองซาน ซูจี และพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา

Avatar photo