Politics

สธ.ย้ำจุดยืนต้อง’แบน 3 สารพิษ’ พบแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำทีมแถลงจุดยืน”แบน 3 สารพิษ” ย้ำห่วงสุขภาพประชาชน หลังพบผู้ป่วยจากสารเคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  

นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขต่อการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ว่า คณะกรรมการฯ ที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ยืนยันตามมติเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ให้แบนสารเคมีอันตราย 3 สาร มีการรับรองมติการประชุมไปแล้ว

DSC 1045

โดยได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งจากการประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนมีความห่วงใยที่พบผู้ป่วยจากสารเคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด เช่น ที่โรงพยาบาลน่าน จากเดิมพบผู้ป่วยปีละ 40 คนเพิ่มเป็นเดือนละ 25 คน

สำหรับการเฝ้าระวังพืชผักผลไม้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารเคมีตกค้างหลายชนิด เช่น ที่จังหวัดพิษณุโลกพบสารพาราควอตตกค้างในกะหล่ำปลี 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึง 20 เท่า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีผลต่อทารกในครรภ์

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มมาตรการดูแลสุขภาพประชาชน โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาศักยภาพ อสม. 80,000 คน ให้เป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจพืชผักผลไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติ ตรวจหาสารพาราควอตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากสารพิษ

โดยประสานกับศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้มข้นความปลอดภัยของผัก ผลไม้ อาหารในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ด่านตรวจผ่านแดน 52 ด่าน

ปลัดสาธารณสุข1

“จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยเปลี่ยนแปลง ต่อการแบน 3 สาร ต่อจากนี้ไปจะเน้นการดูแลสุขภาพประชาชนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเยาวชนรุ่นหลัง ทั้งจากพัฒนาการล่าช้า และโรคต่าง ๆ เช่น โรคสมองเสื่อม มะเร็ง” นายแพทย์สุขุม กล่าว

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พาราควอต คลอร์ไพริฟอสถือว่าเป็นสารเคมีที่อันตรายรุนแรงมีพิษแบบเฉียบพลัน ทำให้ไตวาย ตับวาย สามารถทำให้เสียชีวิตได้ คลอร์ไพริฟอสก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็ง และไกลโฟเซตสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน  ส่วนกรณีที่มีผู้อ้างว่าไม่พบสารเคมี แต่พอลงพื้นที่สุ่มตรวจกลับพบสาร  พาราควอตในกะหล่ำปลีในปริมาณ 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมให้มีได้ 0.01มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึง 20 เท่า

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight