Marketing Trends

‘3 ยักษ์มาร์เก็ตเพลส’ ถกทิศอีคอมเมิร์ซ ‘ทางรอด’ สินค้าไทยหลัง ‘จีนจ่อถล่ม’

การเปิดฟรีเทรดโซนอีคอมเมิร์ซในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้สินค้าข้ามพรมแดนหรือสินค้าจากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดในไทยได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น โดยเฉพาะทัพสินค้าจากจีน ในภาวะที่อีคอมเมิร์ซเมืองมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยประเมินว่าในปี 2563 อีคอมเมิร์ซไทย จะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%

ในงานสัมมนา ไพร์ซซ่า อีคอมเมิร์ซ ซ้มมิท 2020 จัดโดยบริษัท ไพร์ซซ่า จำกัด ได้พูดคุยถึงกลยุทธ์ของธุรกิจมาร์เก็ตเพลสในปี 2563 จาก 3 ยักษ์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ได้แก่ ลาซาด้า, ช้อปปี้ และ เจดี เซ็นทรัล โดยต่างมองว่า ในปี 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่การแข่งขันก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ผู้ขายบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส หรือผู้ประกอบการมาร์เก็ตเพลส ต้องปรับตัวรับ

2 18

 

เริ่มจาก ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด ลาซาด้า ประเทศไทย ที่กล่าวว่า เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2563 จะประกอบด้วย 4 เทรนด์ได้แก่

  • More Mobile จากการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทย ทำให้โจทย์สำคัญของมาร์เก็ตเพลส คือ การดึงให้ผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มได้นานที่สุด เห็นได้จากการที่ลาซาด้า เปิดตัว ลาซมอลล์ และกลยุทธ์ ช้อปเปอร์เทนเมนท์ เพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน ด้วยร้านค้าแบรนด์เนมและความบันเทิง
  • More Connected การทำตลาดผ่านหลากหลายช่องทางมากขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง
  • More Convenience ต้องมีความสะดวกสบายมากขึ้น และเป็นการช้อปปิ้งอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น
  • More Customization ตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น
  • ธนิดา ซุยวัฒนา
    ธนิดา ซุยวัฒนา

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ  ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ต้องทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้า และมีการเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าเพื่อมาจัดกลุ่ม และนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เพื่อต่อยอดการทำตลาดและตอบสนองได้อย่างตรงจุด

ขณะที่การเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศนั้น ผู้บริหารลาซาด้ามองว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อจะได้เปรียบจากการมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือก ในราคาที่ไม่ต้องผ่านคนกลางหรือผู้นำเข้า เพราะซื้อสินค้าได้จากผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ที่เข้ามาทำตลาดได้โดยตรง ขณะที่ผู้ขายก็จะได้ประโยชน์จากการที่สินค้านำเข้ามาได้รวดเร็วขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากฟรีเทรดโซนเพื่อสร้างโอกาสนำสินค้าไปขายในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะจีน แต่ต้องสร้างหรือพัฒนาหรือหาสินค้าที่มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างเพื่อให้สามารถแข่งขันและส่งออกได้

ด้าน สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซส่งผลให้ผู้คนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น และเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับผู้ขายหน้าใหม่ โดยเห็นได้จากผู้ค้าแสนรายบนช้อปปี้เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มคนจบใหม่และกลุ่มคนเริ่มทำงาน รวมถึงคนทำงานที่ต้องการรายได้เสริม

สุชญา ปาลีวงศ์
สุชญา ปาลีวงศ์

ขณะที่พฤติกรรมลูกค้าเองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่เข้ามาอีมาร์เก็ตเพลส เพื่อซื้อสินค้าแล้วออกจากแพลตฟอร์ม แต่ลูกค้าปัจจุบ้นเปลี่ยนไป โดยมองหาความหลากหลายมากขึ้นนอกเหนือจากสินค้า เช่น การพูดคุย ความบันเทิง โจทย์ของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ จึงอยู่ที่การปรับตัวเพื่อรับเทรนด์ผู้บริโภคและตอบสนองให้ได้อย่างตรงจุด เช่น ช้อปปี้ ได้จัดทำช้อปปี้ ไลฟ์ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการขายให้ผู้ขาย และดึงลูกค้าให้อยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น

สำหรับการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นนั้น มองว่าเป็นโอกาสให้สินค้าไทยเกิดการปรับตัว ด้วยการมองหากลุ่มเป้าหมายเพื่อทำเซ็กเมนต์เตชั่น หาสินค้าที่สร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และใช้เครื่องมือจากแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสเพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย

ขณะที่ บูม หมู่ศิริเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล แสดงความเห็นว่า ลูกค้าในวันนี้มีแบรนด์ลอยัลตี้ต่อตราสินค้าลดลง ซึ่งถือเป็นโอกาสของแบรนด์ใหม่ที่จะเข้ามาทำตลาดในภาวะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การยึดกลุ่มลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ต้องมีความจริงใจกับลูกค้าและสร้างความแตกต่าง

บูม หมู่ศิริเลิศ
บูม หมู่ศิริเลิศ

ยุคนี้จะเป็นยุคของการขับเคลื่อนการตลาดด้วยข้อมูล ด้วยการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มยอดขาย จะเห็นได้จากการที่แบรนด์ใหญ่ เข้ามาทำตลาดสร้างช่องทางออนไลน์ของตัวเองมากขึ้น ก็เพื่อเก็บฐานข้อมูลลูกค้า แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อได้ข้อมูลลูกค้ามาแล้ว ต้องใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการหากลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง ตรงกับสินค้า” บูมกล่าว

ในประเด็นสินค้าต่างประเทศเข้ามาในไทยนั้น ผู้บริหารเจดี เซ็นทรัล ให้ความเห็นว่า เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าไทย เจ้าของสินค้าไทย ต้องกลับไปดูสินค้าของตัวเอง และพัฒนาเพื่อให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าให้ลูกค้า เพื่อสร้างความเหนือกว่า เช่น การรับประกัน, การบริการหลังการขาย โดยพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าและส่งมอบให้ได้ตรงความต้องการ

 

Avatar photo