Marketing Trends

ประกาศ 3 ผู้ชนะ ‘เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด’ มุ่งวิถีอาหารปลอดภัย

เดินหน้าจัดประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เป็นปีที่ 11 สำหรับ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจผู้บริโภค” เน้นส่งเสริมเกษตรกรผลิตอาหารปลอดภัย ด้วยการเกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจร สอดรับเทรนด์สุขภาพคนเมือง และความต้องการของตลาดโลก

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เปิดเผยว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกษตรกรตัวอย่าง และขยายแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด “เกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจร” ตั้งแต่ กระบวนการปลูก การแปรรูปเพิ่มมูลค่า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการตลาด

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ ได้แก่ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยยึดหลักสำคัญทั้ง 4 ประการ คือ สุขภาพ(health) นิเวศวิทยา(ecology) ความเป็นธรรม(fairness) และการดูแลเอาใจใส่ (care) รวมทั้งต้องคำนึงถึงการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนผลิต การขนส่ง การบริโภค ไปจนถึงการจัดการและกำจัดของเหลือใช้ในฟาร์ม

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาหารปลอดภัยเป็นความท้าทายหนึ่งของโลกที่กำลังเผชิญ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Smart Farmer ชนะเลิศ รองชนะเลิศ

ปัจจุบัน รัฐบาลได้เห็นความสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ทั้งนี้ ในกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ได้มีการจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เกษตรกรและผู้บริโภค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มสัดส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วโลกรวมกันประมาน 436.53 ล้านไร่ ใน 173 ประเทศ มีมูลค่าทางการตลาดสูง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจัดว่าเป็นอันที่ 7 ของภูมิภาค ซึ่งมีพื้นที่รวม 360,000 ไร่ โดยรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 1.3 ล้านไร่ ให้ได้ในปี 2565 ซึ่งการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์นี้ จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภคและการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ในอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

แยมกระเจี๊ยบ

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก

พร้อมกันนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนรูปแบบของวิถีชีวิตจากชนบทสู่เมืองที่เพิ่มมากขึ้น (Urbanization) โดยประชากรเมืองจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66% ภายในปี 30 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ 50% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้เกิดความตระหนักในความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งสามารถติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตได้ (Traceability)

เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของโลกที่เน้นความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้ห่วงโซ่ทางการเกษตรมีประสิทธิภาพผ่านการทำเกษตรอย่างแม่นยำ (precision farming) ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (data) ที่ได้จากแปลงเกษตรจริง ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ลดการพึ่งพาสารเคมี สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

กล้วบตากเสียบตอก

สำหรับผลการตัดสินเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2562 ได้แก่

• รางวัลชนะเลิศ : นายปรีชา หงอกสิมมา จ.ขอนแก่น เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและเป็นแบบอย่างของการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยยึดแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่ 14 ไร่ เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการผสมผสานกิจกรรมทางการเกษตรอย่างครบวงจร ได้แก่ ธนาคารต้นไม้ พื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ ฟาร์มไก่ไข่อารมณ์ดี การแปรรูปสมุนไพรและพื้นที่ที่จัดสรรเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตจากป่ามาแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งผลิตพืชผักและสมุนไพรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “WANAPHANW” (วนพรรณ)

ขณะเดียวกัน ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก สามารถเลือกปลูกผลผลิตนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรได้ ทำน้อย ได้มาก สร้างรายได้ให้ทั้งตัวเองและชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

• รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : นายโกสินธุ์ สุวรรณภักดี จ.มหาสารคาม ผู้คิดค้น ต่อยอด สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ “กล้วยเสียบตอก” ด้วยการนำวัสดุพื้นบ้านมาใช้ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน

• รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : นางกล้วย ดวงคำ จ.ยโสธร ผู้นำกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ที่เข้มแข้ง มีเครือข่ายข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานออร์แกนิค สามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศในนาม “ข้าวอินทรีย์บ้านเชียงเพ็ง”

Avatar photo