Technology

ติง ‘กสทช.’ ดึงซี-แบนด์ทำ 5G ต้องชัด หวั่นกระทบ ‘ดาวเทียม’

“เศรษฐพงค์” แนะ กสทช. เปิดให้ชัดโรดแมป 5G ชี้ถ้าใช้คลื่น 3.5 GHz หรือ ซีแบนด์ ต้องวางแผนจัดสรรให้รอบคอบ เนื่องจากตอนนี้ใช้กับกิจการดาวเทียม อาจกระทบไทยคม พร้อมทั้งควรรวางแผนร่วมกันกับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ป้องกันปัญหาสัญญาณคลื่นรบกวน

พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ1
พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอี) เปิดเผยว่า หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศ โดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรมีการวางแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ( Roadmap) สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3.5 GHz หรือซี-แบนด์ ซึ่ง เป็นคลื่นความถี่ที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำหรับเทคโนโลยี 5G

ทั้งนี้เนื่องจาก ซี-แบนด์ เป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกในการทำ 5G มีอุปกรณ์รองรับเป็นจำนวนมาก แต่ในประเทศไทยคลื่นความถี่ย่านนี้ใช้ในกิจการดาวเทียม จึงอาจเกิดผลกระทบกับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 7 ดังนั้นจึงควรหารือและวางแผนร่วมกันกับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอื่นๆ ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะหากมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน จะก่อให้เกิดปัญหาการประสานงานคลื่นความถี่ที่จะทำให้เกิดปัญหาการรบกวนกันของสัญญาณได้

สำหรับวางโรดแมปในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3.5 GHz สำหรับเทคโนโลยี 5G ควรมีการดำเนินการใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนและตัดสินใจ ด้วยการตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3.3 – 4.2 GHz ในปัจจุบันประเมินศักยภาพสำหรับการใช้ช่องสัญญาณร่วมกัน และการใช้คลื่นความถี่ในช่องสัญญาณข้างเคียง รวมทั้งประเมินทางเลือกและวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางด้านต้นทุน

wifi 5G

ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินงานสำหรับการใช้คลื่นความถี่ในช่องสัญญาณเดียวกัน (Co-channel) โดย แจ้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการและเวลาในการดำเนินการการใช้คลื่นความถี่ในช่องข้างเคียง (Adjacent channel) และแจ้งผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการเพื่อลดการรบกวน ตลอดจนประสานงานและการจัดการข้ามพรมแดน

ขณะที่ในขั้นตอนที่ 3 การจัดสรรใบอนุญาต ควรกำหนดเงื่อนไขทางเทคนิคสำหรับคลื่นความถี่ที่จะนำมาจัดสรร ออกแบบการจัดสรรใบอนุญาตที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักของประเทศ ดำเนินการจัดสรรใบอนุญาต โดบการจัดสรรคลื่นความถี่หน่วยงานกำกับดูแลควรจะต้อง มีการกำหนดความชัดเจนทั้งในเรื่องระยะเวลาและคลื่นความถี่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น และช่วยผู้ประกอบในการวางแผนการลงทุน 5G และพัฒนาเครือข่าย เนื่องจากการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่มีประสิทธิภาพ ควรจะต้องใช้แบนด์วิดท์ที่มีขนาดใหญ่และต่อเนื่องกันจำนวน 80 – 100 MHz

ทั้งนี้หากประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ 5G ในปี 2563 ควรดำเนินการในเรื่องคลื่นความถี่ให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ เงื่อนไขในการประมูลคลื่น ในขณะที่ในประเทศต่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และทางฝั่งยุโรป ได้เตรียมการจัดสรรช่วงคลื่นดังกล่าวมาให้บริการ 5G กันแล้ว ประเทศเหล่านั้นจึงไปได้เร็ว

“การเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 3.5 GHz ที่ปัจจุบัน ไทยคม เป็นผู้ถือครองอยู่นั้น จะเป็นเรื่องยากหรือง่ายในการเรียกคืนขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่ายว่าอยากให้ 5G มาตรฐานโลกเกิดในไทยหรือไม่ ส่วนการเปิด 5G ของลาวที่กำลังจะเปิดให้บริการ 5G แต่ก็เป็นเพียงการเปิดระบบ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยการให้บริการระบบ 5G จะมีมูลค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เนื่องจากไทยมีนิคมอุตสาหกรรม มีระบบการแพทย์ที่มีพื้นฐานดี”พันเอก เศรษฐพงค์ กล่าว

ในส่วนของ สปป.ลาวนั้น เตรียมเปิดตัวบริการ 5G โดย LTC จะเป็นบริษัทแรกที่ให้บริการ ซึ่งจะมีการเปิดตัวในการประชุมรัฐมนตรีด้านICT ของอาเซียน ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคมนี้ ที่กรุงเวียงจันทร์

Avatar photo