Business

สินค้าไทยชู‘อินฟลูเอ็นเซอร์-KOL’เจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ตัวเลขนักท่องเที่ยว “จีน”ในปี 2560 เป็นกลุ่มต่างชาติ ที่เดินทางมาไทยมากที่สุดกว่า 9.5 ล้านคน  ใช้เวลาท่องเที่ยวเฉลี่ย 5-7 วัน/ทริป มีอัตราการใช้จ่าย  2.5-5 หมื่นบาท/คน/ทริป  (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน)ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนหลักๆ แบ่งเป็น ค่าที่พัก 27% ,ช้อปปิ้ง 27% ,อาหาร 18% ,กิจกรรมผ่อนคลาย 11% เป็นต้น

ปีนีคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีน จะเดินทางมาไทยแตะ 10 ล้านคน เป็นกลุ่มที่นิยมซื้อสินค้าไทยเป็นของฝาก นับเป็นอีกกลุ่มกำลังซื้อที่สินค้าและแบรนด์ไทย เริ่มจัดสรรงบโฆษณาเพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ

นักท่องเที่ยวจีน

กลยุทธ์“อินฟลูเอ็นเซอร์-KOL

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ธุรกิจมีเดีย เอเยนซี กล่าวว่านักท่องเที่ยวจีน  95% ใช้สมาร์ทโฟน วางแผนท่องเที่ยว ทั้งการหาข้อมูล จองตั๋วเดินทางและโรงแรมที่พัก การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน จุดแรกจะผ่านสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ  เมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต

นักท่องเที่ยวจีน
ภวัต เรืองเดชวรชัย

เมื่อเริ่มท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ จะใช้รถไฟฟ้า พบว่ามีนักท่องเที่ยวใช้รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที  1.2 หมื่นคน/เดือน  ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส อยู่ที่ 4.2 หมื่นคน/เดือน

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และสถานที่ช้อปปิ้งที่นักท่องเที่ยวจีนนิยม  เช่น จตุจักร ช้อปปิ้ง สตรีท ราชประสงค์ เซ็นทรัลเวิลด์  เทอร์มินอล 21  เอเชียทีค   ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่

กลยุทธ์การสื่อสารและโฆษณาในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน สินค้าและแบรนด์ต่างๆ  จะใช้วิธีสร้างความต้องการ (need)  ตั้งแต่ประเทศจีนก่อนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย โดยสื่อสารผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ หรือ KOL (Key Opinion Leader) ที่คนจีนสนใจ  เพื่อทำให้เกิดความต้องการและกระแสตั้งแต่ในประเทศจีน เมื่อเดินทางมาไทย ก็จะมาพร้อม List สินค้า ที่พร้อมจับจ่าย

นักท่องเที่ยวจีน KOL

ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงไทย “แบรนด์”ต่าง ๆ จะตอกย้ำด้วยป้ายโฆษณาสินค้า ตั้งแต่สนามบิน  กลางเมือง โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่คนจีนนิยมเดินทาง

แต่เนื่องจากประชาชนจีนมีกว่า 1,200 ล้านคน ดังนั้น อินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL ในจีน จึงมีจำนวนมากกว่าประเทศไทย การทำผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL รายบุคคลอาจเข้าไม่ถึงนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้นช่องทางการสื่อสารจึงมีรูปแบบแพ็คเกจอินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL “หลายราย” เพื่อสร้างพลังการสื่อสารเข้าถึงกลุ่มคนจีน

“เครื่องสำอาง”สินค้ามาแรง

ภวัต บอกว่าจากเดิมสินค้าไม่ได้จัดสรรงบสื่อสารและโฆษณาสำหรับกลุ่มเป้าหมายจีน  แต่ปัจจุบันเริ่มแบ่งงบประมาณมาให้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่อซื้อสื่อ เช่น ป้ายโฆษณา อินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL สำหรับกลุ่มลูกค้าจีนโดยเฉพาะ เพราะนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มหลักที่เดินทางมาไทยมากที่สุด และนิยมซื้อสินค้าไทยเป็นของฝาก

ช่วงแรกสินค้าไทยที่อยู่ในลิสต์ต้องมาซื้อของนักท่องเที่ยวจีน เช่น ยาดม สมุนไพรอภัยภูเบศร  สำหรับสินค้าของฝากจากไทย ต้องบอกว่ายุคแรกสินค้าขายได้ด้วยตัวเอง แบบ “บอกต่อ”  แต่ปัจจุบันการสื่อสารโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวจีน เลือกซื้อสินค้าประเภทอื่นมากขึ้น  เช่น เครื่องสำอาง  สกินแคร์ ที่เป็นการสร้าง Need  ในสินค้ากลุ่มนี้ จากการสื่อสารโฆษณาในประเทศจีน

นักท่องเที่ยวจีน

ทั้งนี้ พบว่าในย่านที่มีนักท่องเที่ยวจีน  เช่น ย่านรัชดาภิเษก ลาดพร้าว ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่    จะมี รีเทลช็อป หลากหลายแบรนด์เฉพาะพื้นที่ ที่ไม่ใช่แบรนด์รีเทลช็อปหลัก เปิดช็อปให้บริการกลุ่มคนจีนโดยเฉพาะ

“นอกจากสมุนไพร ที่เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและตลาดจีนอยู่แล้ว วันนี้ได้ขยายสู่ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หน้า ผม ที่คนจีนนิยมซื้อเป็นของฝาก

โฆษณาออนไลน์-สื่อโซเชียลจีน

คนจีน มีพฤติกรรมออนไลน์เหมือนคนไทย แต่แพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อโซเชียลที่เป็นยูนิเวอร์แซล ที่คนไทยใช้งาน จะแตกต่างจากคนจีน ซึ่งมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง เช่น  เว็บไซต์ค้นหาข้อมูล “กูเกิล” คนจีนใช้  Baidu ,สื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก,ทวิตเตอร์  คนจีนใช้ Weibo ,แอพพลิเคชั่นแชท/ส่งข้อความ คนจีนใช้ WeChat

นักท่องเที่ยวจีน

ปัจจุบันรูปแบบการสื่อสารออนไลน์เพื่อเข้าถึงคนจีน ยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ในจีนมาวางแผน  โดยเอเยนซีในไทยเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ แต่ไม่ได้ซื้อสื่อโซเชียลเองเหมือนในประเทศไทย  เพราะจีน มีเอกลักษณ์ด้านสื่อที่แตกต่าง

นักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ช่วง 1-2 ปีนี้เริ่มเห็นแบรนด์ของคนไทยให้ความสำคัญในการทำโฆษณาเจาะลูกค้าจีนมากขึ้น หลังจากใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ผ่าน อินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL ในประเทศจีน เพื่อสื่อสารแบรนด์ให้เป็นที่จดจำแล้ว  เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย จะใช้สื่อโฆษณาในเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจีนผ่าน ไม่ว่าจะเป็น ป้ายโฆษณาที่สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า โรงแรมที่พัก และแหล่งท่องเที่ยว

“ปีนี้ ที่เริ่มเห็นสื่อโฆษณาเจาะตลาดจีนในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในสนามบิน สถานีรถไฟฟ้า กลางเมืองมากขึ้น  คาดว่าเทรนด์นี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เพราะนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นแตะหลักล้านมาหลายปีแล้ว นักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นอีกกำลังซื้อหลักของสินค้าไทย”

Avatar photo