Business

‘เขียง’ เรือธงปั้นรายได้กลุ่มเซ็น ชูโมเดลโลว์คอสต์ ‘ถูก-เล็ก-เร็ว’ ชิงสตรีทฟู้ด 3 แสนล้าน

หลังจากกลุ่มเซ็น คอร์ปอเรชั่น ชิมลางเปิดร้านอาหารไทยตามสั่งแบรนด์ “เขียง” มาเพียง 8 เดือน ถึงวันนี้สามารถขยายสาขาได้แล้ว 40 สาขา ภายใต้หลากหลายโมเดล ทำให้ขณะนี้ เห็นอนาคตที่ชัดเจนขึ้นว่า แบรนด์เขียง จะกลายเป็นแบรนด์เรือธงที่ขยายตัวได้เร็วที่สุดในบรรดา 12 แบรนด์ร้านอาหารของกลุ่มเซ็นฯ และจะสร้างรายได้ถึง 50% หรือ 5,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรวม 10,000 ล้านบาทตามแผนงาน 5 ปีที่วางไว้

บุญยง ตันสกุล
บุญยง ตันสกุล

ทำไมแบรนด์น้องใหม่ “เขียง” จึงมาเร็วและแรง ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กลยุทธ์การบริหารธุรกิจและวิสัยทัศน์ของ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ที่พร้อมปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาดให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงเพื่อรองรับเทรนด์ในอนาคต

นั่นคือ การแตกไลน์ขยายโมเดลแบรนด์เขียงออกมาถึง 7 โมเดลภายในเวลาเพียง 8 เดือน ได้แก่ 1.การร่วมกับปตท. เปิดสาขาในปั๊มปตท. แล้ว 20 สาขา 2. สาขาสแตนด์อโลน ที่อาร์ซีเอ และอ่อนนุช 3.เปิดในฟู้ดคอร์ท ที่เซ็นทรัล วิลเลจ และเซ็นทรัล บางนา 4.เปิดในสถานีรถไฟใต้ดินสาขาเพชรบุรี ในรูปแบบเทค อะเวย์ 5. เปิดเป็นครัวกลางผลิตสินค้าส่งเดลิเวอรี่ ที่ศาลาแดง 6.ร่วมกับเทสโก้โลตัส เปิดรูปแบบ เคาท์เตอร์บาร์ เซอร์วิสในเทสโก้โลตัสแล้ว 4 สาขา และ 7. สร้างแบรนด์ “เขียงทอง” ที่เซ็นทรัล พัทยา เพื่อขยายตลาดสู่ระดับพรีเมียม เน้นวัตถุดิบพรีเมียม

ยุทธศาสตร์ของแบรนด์ เขียง ที่ทำให้วางเป้าหมายเป็นแบรนด์เรือธงของกลุ่ม ทั้งในแง่การขยายสาขา และรายได้ มาจากการวางโมเดลร้าน “โลว์คอสต์” หรือร้านต้นทุนต่ำ แต่รวดเร็ว โดยต้องได้ทั้ง “ถูก-เล็ก-เร็ว” ด้วยการมุ่งขยายโมเดลในขนาดที่เล็กลง เห็นได้จากรูปแบบเทคอะเวย์ และรูปแบบที่มีเพียงครัวขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า DEL CO เพื่อผลิตส่งเดลิเวอรี่ ซึ่งทั้งสองแบบจะเป็นหัวใจหลักในการขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากใช้ต้นทุนน้อยลง แต่รวดเร็วขึ้น และที่สำคัญคือ จับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่นิยมส่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากเดลิเวอรี่จะสูงถึง 50%

DSC 1637

นอกจากนี้ ในอนาคตทิศทางของแบรนด์ เขียง จะมุ่งเปิดรูปแบบครัวกลางมากขึ้นเพื่อเดลิเวอรี่อย่างเดียว และโมเดลการทำธุรกิจของเขียง ในเรื่องไซส์ที่เล็กลง และครัวกลาง จะใช้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคตของแบรนด์อื่นๆ ในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น อีกด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นโมเดลที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการนำมาเป็นโมเดลสำหรับขยายธุรกิจในต่างประเทศอีกด้วย

พร้อมกันนี้ แบรนด์ เขียง ยังเป็นแบรนด์แรกในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น ที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดสตรีทฟู้ด มูลค่า 3 แสนล้านบาท จากเดิมที่ทุกแบรนด์ในเครือจะเน้นรูปแบบ ฟูลเซอร์วิส หรือร้านอาหารที่มีที่นั่งทานที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 2 แสนล้านบาท อีกทั้งพบว่า ตลาดสตรีทฟู้ด เป็นตลาดใหญ่ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง และไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจน

เมื่อถามถึงแบรนด์ดีเอ็นเอ ของกลุ่มเซ็นฯ ในอนาคตนับจากนี้ บุญยงกล่าวว่า จะแบ่งธุรกิจร้านอาหารออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.รูปแบบร้านอาหารที่ทำมาตลอด 30 ปี 2.การขยายแฟรนไชส์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.กลุ่มเดลิเวอรี่ ซึ่งนับจากนี้ กลุ่มเซ็นฯ พร้อมเปิดกว้างรับพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตรเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน และซินเนอร์จี้ทรัพยากรที่มีร่วมกันในทุกเซ็กเตอร์ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเรียนรู้โนวฮาวจากพันธมิตรเพื่อนำมาปรับใช้ เห็นได้จากการซื้อแฟรนไชส์ตำมั่ว และ Sushi Cyu ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดธุรกิจ โดยคาดว่าใน 1-2 จะมีดีลใหม่เกิดขึ้นแน่นอน

ตำมั่ว

ในส่วนของทิศทางในอนาคตนั้น อยากขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นหลัก จากทุกแบรนด์ที่มีรวมถึงแบรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากแผนงาน 5 ปี ที่จะมียอดขายแตะ 10,000 ล้านบาทนั้น นอกจากจะมาจากแบรนด์เขียงที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 ล้านบาทแล้ว ร้านในเครือทุกแบรนด์รวมกัน จะเป็นร้านแฟรนไชส์บริหารถึง 80% จากปัจจุบันที่จำนวนร้านทุกแบรนด์รวมกัน 280 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 50% โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา

นายบุญยงกล่าวปิดท้ายว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะเปิดแบรนด์ใหม่เป็นร้านอาหารจีน ภายใต้ชื่อ “DINS” ซึ่งบริษัทซื้อแฟรนไชส์มาจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ เสี่ยวหลงเปา ที่เป็นการทอด ต่างจากเสี่ยวหลงเปาในตลาดปัจจุบันที่เป็นการนึ่ง เนื่องจากต้องการเรียนรู้โนวฮาวของแบรนด์ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการใช้คนน้อย ไม่ต้องมีครัวกลางทำให้ลดต้นทุนลงและราคาไม่สูงมากนัก หรือเริ่มต้นหลัก 100 บาทเท่านั้นจากการขายเป็นเซ็ท

แน่นอนว่า โนวฮาวที่ได้ย่อมต้องสามารถนำมาใช้ปรับให้เข้ากับธุรกิจร้านอาหารของกลุ่มเซ็นฯ เพื่อให้การซื้อแฟรนไชส์ เป็นการซื้อที่ “คุ้มค่า”

Avatar photo