World News

กาแฟปานามา ‘เกอิชา’ แพงทุบสถิติโลก กิโลละ ‘10,000 ดอลลาร์’

ไร่ Ninety Plus จากปานามา ทุบสถิติกาแฟแพงสุดในโลกที่ราคากิโลกรัมละ 10,000 ดอลลาร์ โดยขายกาแฟ “เกชา” หรือ “เกอิชา” (Gesha/Geisha) สายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก และยังทำลายสถิติเดิมของตัวเองในการประมูลเมื่อปี 2560 ที่ 5,001.50 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมอีกด้วย

กาแฟเกชา (เกอิชา) สำหรับทดลอง ซึ่งพัฒนาโดย Joseph Brodsky ผู้ก่อตั้ง Ninety Plus สร้างความประทับใจอย่างมากให้กับ Ibrahim Al Mallouhi ผู้ประกอบชาวยูเออีและผู้ก่อตั้ง The Espresso Lab จนถึงขั้นโน้มน้าวให้ Brodsky ขายกาแฟบางส่วนให้เขา ซึ่งคิดเป็นราคาขายถ้วยละ 250 ดอลลาร์

สาเหตุที่กาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมดังกล่าวมีราคาสูงมากขนาดนี้ เพราะใช้วิธีการเพาะปลูกที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด และใช้ยีสต์สายพันธุ์ท้องถิ่นในระหว่างการหมักแบบหลายขั้นตอน รวมทั้งโดย ไร่ Ninety Plus คว้ารางวัลจากการแข่งขัน World Brewers Cup มาแล้วถึง 5 ครั้ง และได้รับคะแนนรีวิวมากกว่าไร่กาแฟทุกแห่งในโลกถึง 97 จุด

ไร่ Ninety Plus ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2549 โดย Joseph Brodsky ผู้ก่อตั้งและย้ายไปเอธิโอเปีย โดยได้สรรสร้างรูปแบบใหม่ของการผลิตและแปรรูป ร่วมกับผู้ผลิตในท้องถิ่น กาแฟเหล่านี้กลายเป็นกาแฟที่มีราคาสูงที่สุดในโลกอย่างรวดเร็ว จากนั้น ได้นำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมมากขึ้นในเมืองโวลแคน จังหวัดชิริกี ประเทศปานามา ซึ่งเป็นที่ตั้งของการระเบิดครั้งสุดท้ายของภูเขาไฟบารู ก่อนที่จะเริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์กาแฟเอธิโอเปีย เกชา (Ethiopia Gesha) ในเวลาต่อมา

joseh jose gesha treeWEB

งานของ Brodsky ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปานามา ซึ่งได้รับการยอมรับอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟชั้นนำของโลก ผู้ผลิตกาแฟที่มีความคิดก้าวหน้าของปานามาได้ร่วมงานกับ Brodsky ในการเดินหน้าพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การรับรู้ทางประสาทสัมผัสไปสู่ระดับใหม่

หนึ่งในนักคิดหัวก้าวหน้าคือ Guillermo de Saint Malo Eleta ซีอีโอของกองทุน ELETA พาร์ทเนอร์รายใหม่ของ Brodsky โดย ELETA ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกาแฟ มองเห็นโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของปานามา

นอกจากนี้ Ninety Plus ยังได้คิดค้นรูปแบบการปลูกป่าซึ่งทำให้สามารถปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงา โดยมีกลุ่มชนพื้นเมือง Ngäbes (คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในปานามาตะวันตก) เป็นกลุ่มผู้ปลูกที่ได้รับค่าแรงสูงสุด และยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนวัตกรรมแห่งนี้ด้วย

ninity plus 1

“ฟาร์มของเราให้ความรู้สึกเหมือนอุทยานสัตว์ป่า ที่มีกาแฟและคนกลมกลืนกันอยู่ในระบบนิเวศ” Brodsky กล่าว

ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลปานามาและการท่องเที่ยวแห่งปานามา เกษตรกรผู้เพาะปลูกในปานามาจึงได้พัฒนา Coffee Circuit ในลักษณะเดียวกับการท่องเที่ยวเพื่อชิมไวน์ทั่วโลก โดยมีไร่กาแฟที่เปิดให้บริการต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมมอบประสบการณ์การชิมกาแฟ (cupping) ซึ่งรวมถึงไร่กาแฟ Ninety Plus ที่เปิดให้สำรองการเยี่ยมชมพร้อมไกด์นำเที่ยวเช่นกัน

Avatar photo