COLUMNISTS

ท่านไม่ได้ไปต่อ!! จุดจบมาถึงโดยไม่รู้ตัว

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด
145

ปีนี้ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยหลายองค์กรพัฒนาทีมผู้บริหารให้ใช้ศักยภาพของแต่ละคนได้เต็มที่มากที่สุด ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความเก่ง มีจุดแข็งไปหลากหลายด้าน เป็นบุคคลที่องค์กรอยากที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมากยิ่งขึ้น

ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่ง และแน่นอนทุกคนก็มีจุดอ่อนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติหากเราจะมีจุดอ่อน ในวงเล็บคือเราควรรู้ว่าเรามีจุดอ่อนด้านใดเพื่อจะได้ระมัดระวัง หากต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้จุดอ่อน อันนี้ไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัว

แต่มีส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก แต่อยู่ในจุดที่คนอื่น ๆในองค์กรเริ่มจะรับไม่ได้แล้ว ส่วนตัวคิดว่าเราน่าจะเอาส่วนนี้มาเป็นข้อคิดได้ เพื่อคอยหมั่นเช็คว่าเราไม่ได้ติดอยู่ในกลุ่มส่วนน้อยนี้ด้วยนะคะ

Weak link pic

กลุ่มส่วนน้อยนี้ แน่นอนว่าครั้งหนึ่งก็เคยประสบความสำเร็จในขั้นใดขั้นหนึ่งมา แต่มาวันนี้ สิ่งที่เคยเป็นจุดอ่อน เมื่อมาอยู่ในบทบาทใหม่ หรือบทบาทที่สูงมากขึ้น หรือจุดอ่อนที่เป็นมานานจนเรื้อรัง สิ่งที่เคยเป็นจุดอ่อน เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจุดตาย

สลิงชอทเรียกจุดอ่อนที่ร้ายแรงว่าเป็น จุดตาย คือเริ่มส่งผลกระทบต่อบทบาทหรืองานที่ทำในปัจจุบันอย่างมาก เช่น ถ้าตอนเราเป็นระดับพนักงาน ถ้าเราสื่อสารไม่ค่อยชัดเจนอาจเป็นจุดอ่อน แต่ถ้าเราเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน คลาดเคลื่อน อันนี้นั่นเอง ที่จะเป็นจุดตายของผู้บริหารท่านนี้ได้

จากการศึกษาของ Zenger Folkman ซึ่งเป็น Partner ของสลิงชอท ที่ทำวิจัยบนผู้นำทั่วโลกกว่า 100,000 คน โดยถามลูกน้อง และคนรอบตัวเกือบล้านคน พบว่าผู้นำกว่า 25 % มีโอกาสมีจุดตาย (Fatal Flaw) และอาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน

การมีจุดตายไม่ได้เป็นอะไรที่ร้ายแรงถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีและทันเวลา เหมือนไปตรวจสุขภาพ แล้วตรวจพบโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายแรง ถ้าท่านนั้นรับรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่านก็จะได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมา

จากประสบการณ์ที่พบมี 3 แบบของผู้มีจุดตายคือ สองกลุ่มแรกคล้ายๆ ผู้ป่วยใน แบบที่สามนี่คือ ผู้ป่วยนอก กำลังจะขอเข้ามารักษาข้างใน

1. แบบป่วยร้ายแรง มีจุดตาย แต่องค์กรไม่เคยส่งสัญญาณหรือช่องทางบ่งบอกให้ผู้บริหารท่านนี้รับรู้เลย หรืออีกแง่คือคิดว่าโตๆ กันแล้วน่าจะรู้ได้เอง

2. แบบตรวจพบแล้วว่ามีจุดตาย และมีการแจ้งชัดเจน แต่กลับมายังทำเหมือนเดิม ไม่เชื่อว่าตนเป็นแบบนั้น ไม่รู้ตัว ไม่รับรู้ ไม่เปิดใจ ไม่ ไม่ และก็ไม่

3. กำลังหางานอยู่ คล้ายๆ ชักศึกเข้าบ้าน (กลุ่มนี้องค์กร ก็ควรมีขั้นตอนการคัดกรองอย่างรัดกุม)

หลายอย่างในชีวิต คนอื่นตัดสินเรา การเป็นนักขาย เป็นผู้นำ เป็นวิทยากร เป็นผู้ให้บริการ เป็นลูกน้อง เราจะเป็นผู้นำของเราคนเดียวโดยไม่สนใจผู้ตามไม่ได้ คล้ายกันดิฉันจะบอกตัวเองเสมอๆ เราเป็นวิทยากรโดยไม่มีคนเรียนไม่ได้ หากเราไม่ฟังเสียงจากคนรอบข้างอาจทำให้ไม่ได้พัฒนาไปไหนเลยจริงมั๊ยคะ

อาการของคนที่มีจุดตายแล้วกำลังจะไม่ได้ไปต่อ มักจะมีอาการคล้ายๆ กันคือ

1. ตัวเองถูกทุกเรื่อง ไม่คิดว่ามีจุดอ่อน เวลามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จะบอกว่ามาจากสิ่งอื่น คนอื่นเสมอๆ ไม่มีความผิดพลาดใด ๆ เลยที่จะมองว่าจากตนเอง

2. ขาด Self Awareness หรือการรู้ตน — รู้ทันคนอื่นเป็นหมื่นครั้ง ยังไม่เท่ารู้ทันใจตัวเองเพียงครั้งเดียว กลุ่มนี้ทำให้มองตนเองฉีกไปจากโลกความจริงเป็นอย่างมาก คือว่ารู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนนะ แต่ไม่คิดว่ามันร้ายแรง ไม่ใช่จุดตาย ทั้งที่จริง ๆ คือคนอื่นเริ่มจะรับไม่ได้แล้ว กลุ่มนี้ได้ยินเยอะมาก เช่นเรารู้ตัวว่าเรามีจุดอ่อนคือความไม่รอบคอบ เราคิดว่าเราไม่รอบคอบ แต่ภาษาคนอื่นอาจเรียกว่าสะเพร่าร้ายแรง แต่เรา ไม่คิดว่าเป็นหนักมาก เลยไม่หาทางแก้ไข สุดท้ายก็เลยสร้างเรื่องร้ายแรงได้เลย

3. เพิกเฉยต่อความเห็นของคนอื่นๆ โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ถ้ามีคนมาบอกว่าควรปรับอะไร เช่น ถ้าเราเป็นวิทยากรสอนหนังสือ แล้วคนบอกว่าเราสอนไม่ค่อยเข้าใจ อธิบายเข้าใจยาก ก็จะมีเสียงกระซิบในหัวตัวเองว่าเราสอนดีแล้ว แต่คนเรียนหัวช้าเอง เออ!!!!!!

4. มักจะพูดคุยแต่กับคนที่พูดชื่นชมในจุดที่เป็นจุดตาย สุดท้ายเลยคิดว่าจุดตายเป็นจุดแข็ง อันนี้นี่หนักสุดเลยนะ — เวลาสัมภาษณ์พนักงานใหม่ ถ้าผู้สมัครนั่งด่าบริษัทที่เคยทำงานเก่าให้ฟัง ระวังไว้เลย เข้าข่ายข้อนี้แน่

สำหรับท่านที่เปิดใจ ปรับปรุงจุดตาย รับรองห่างไกลจุดจบแย่ๆ แน่นอน

แล้วพบกันที่ความสำเร็จแบบยั่งยืนค่ะทุกคน