Business

ปศุสัตว์บึงกาฬผนึก ‘ซีพีเอฟ’ อบรมเกษตรกรป้องกัน ASF ในสุกร 

ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จัดอบรม เรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร” ให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจังหวัดบึงกาฬ  เป็นจังหวัดที่ 16 ของภาคอีสาน

432138

นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขณะนี้ในจังหวัดบึงกาฬยังไม่มีรายงานพบโรค ASF แม้มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นพื้นที่ด่านหน้าที่สำคัญในการสกัดกั้นไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาในไทย จังหวัดบึงกาฬได้บูรณาการกับปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันวางแผนและรับมือป้องกันผลกระทบที่มีต่อผู้เลี้ยงหมู และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่  นอกจากนี้ ได้มีการควบคุมการนำเข้า การผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จากหมูที่ผู้บริโภคซื้อมีความปลอดภัย

น.สพ.ดร.สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบโรค ASF ในสุกร ขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจ ในการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องเกษตรกร โรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน การอบรมให้ความรู้เกษตรกร จะช่วยให้ทุกคนทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในการป้องกันโรค ASF ในสุกร เพื่อขจัดความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติหากสงสัยว่ามีการเกิดโรค

432110

ที่ผ่านมาปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันป้องกันโรค ASF  โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF พร้อมให้เกษตรกรทราบถึงช่องทางการแจ้งข่าวสาร (Call Center) หรือ แอพพลิเคชั่น กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการควบคุมโรคได้ พร้อมจัดซ้อมแผนฉุกเฉินฯ

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานกองสารวัตรและกักกันสัตว์ ที่อยู่ประจำตามแนวชายแดนและประจำจุดผ่านแดน เพื่อควบคุมและห้ามไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์จากหมูจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในเขตจังหวัดบึงกาฬ รวมถึงเข้มงวดการเคลื่อนย้ายหมู ต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ (ร.4) พร้อมปราบปรามโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย

432112

ด้านนายธีระพงษ์ สมบัติหลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการผลิตหมูที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน บริษัท ได้ยกระดับมาตรการป้องกันโรค ในโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มบริษัทและฟาร์มเกษตรกรในคอนแทร็คฟาร์ม จนถึงกระบวนการขนส่งตลอดทั้งห่วงโซ่

นอกจากมาตรการป้องกันโรคภายในบริษัทแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาในประเทศ บริษัทร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดเร่งดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่เลี้ยงหมูในฟาร์มแบบเปิดครอบคลุมทุกจังหวัด ได้ปรับปรุงระบบป้องกันโรคในฟาร์ม และได้รู้ทันและเข้าใจถึงสถานการณ์โรค  และดำเนินการป้องกันตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ มีข้อมูลข่าวสารที่ช่วยให้เกษตรกรรายเล็กเลี้ยงหมูอย่างมั่นใจ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight